คุ้มไหม? เศรษฐีเบอร์ 1 อังกฤษ ทุ่มซื้อหุ้น 25% ‘แมนฯ ยูไนเต็ด’

Key Points

  • คนที่กำลังจะเข้าเส้นชัยคือ เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของอังกฤษ เจ้าของธุรกิจพลังงาน INEOS ที่ข้อเสนอนั้นดูดีกว่าฝ่ายกาตาร์
  • จากเดิมที่มีการยื่นข้อเสนอเพื่อขอเทคโอเวอร์ทั้งหมด 100% ทางฝ่ายมหาเศรษฐีผู้ประกาศตัวเองว่าเป็นแฟนบอลปีศาจแดงตัวยงจะขอซื้อหุ้นเพียงแค่ 25%  หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น
  • ตามข้อมูลจาก Forbes มีการคำนวนมูลค่าของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดเอาไว้ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาท ถือเป็นทีมฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
  • ธุรกิจฟุตบอลเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกับสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่จะได้รับเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมากมายมหาศาล โดยที่มีการคาดว่ามูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดสำหรับ Cycle ต่อไป (2025-2028) จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะในสหราชอาณาจักรเตรียมจะเพิ่มจำนวนแมตช์ถ่ายทอดสดเป็น 270 นัด

ถึงแม้ผลงานในสนามช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทีม “ปิศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะตกต่ำลงไปจากยุคที่ผู้จัดการทีมผู้ยิ่งใหญ่อย่างเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมทัพอยู่มาก แต่กับเรื่องของผลงานนอกสนามแล้วดูเหมือน “แบรนด์” ของพวกเขาไม่ได้ลดความแข็งแกร่งลงไปเลย

สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือกระแสข่าวการขายหุ้นของครอบครัวเกลเซอร์ ซึ่งเข้ามาเทคโอเวอร์ทีมอันดับหนึ่งของอังกฤษไปตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งหุ้นและสิทธิ์ในการบริหารนั้นได้ถูกส่งต่อจากคนรุ่นพ่ออย่างมัลคอล์ม เกลเซอร์ มาสู่คนรุ่นลูกซึ่งมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 6 คนด้วยกัน ซึ่งมีการประกาศว่าจะปล่อยหุ้นในมือออกไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2022)


- โจเอล และอัฟราม เกลเซอร์ 2 พี่น้องตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของร่วมสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (เครดิตภาพ: AFP) -

ปรากฏว่าระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการขายหุ้นออกไปอย่างเป็นทางการ โดยปัญหาใหญ่ที่ทำให้เรื่องทุกอย่างล่าช้านั้นเป็นเพราะ “มูลค่า” ที่เกลเซอร์ต้องการนั้นสูงกว่ามูลค่าความเป็นจริงอยู่มาก และไม่มีนักลงทุนหรือกลุ่มทุนที่ไหนที่ต้องการจะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้

ในช่วงแรกแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งทำการแต่งตั้ง The Raine Group ธนาคารเพื่อการลงทุนจากนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา เป็นนายหน้าในการเจรจาหาผู้ซื้อได้รับความสนใจจากนักลงทุนและกลุ่มทุนหลายแห่ง แต่สุดท้ายแล้วเหลือเพียงแค่ 2 รายเท่านั้นที่พร้อมจะทำการประมูลแข่งกัน

รายที่ได้รับการสนับสนุนจากแฟนฟุตบอลมากที่สุดคือกลุ่มทุนจากกาตาร์ที่นำมาโดย ชีค ยัสซิม ซึ่งพร้อมจ่ายเงินจำนวนร่วม 5,000 ล้านปอนด์ หรือกว่า 2.65 แสนล้านบาทเพื่อทำการเทคโอเวอร์หุ้นทั้งหมด 100% พร้อมปลดหนี้สโมสรอีกร่วม 1,000 ล้านปอนด์ หรือราว 4.4 หมื่นล้านบาท

ไม่นับเงินลงทุนอีกมากมายที่จะนำมาใช้ปรับปรุงทีม ศูนย์ฝึกซ้อม ไปจนถึงสนามเหย้าโอลด์ แทรฟฟอร์ด ที่ในอดีตอาจจะเคยยิ่งใหญ่แต่ปัจจุบันเก่าแก่และทรุดโทรมอย่างน่าใจหาย ในระดับที่หลังคารั่วน้ำฝนหยดใส่หัวแฟนฟุตบอลก็ไม่มีการซ่อมแซม

แต่ความ “ลีลา” ของครอบครัวเกลเซอร์ทำให้ชีค ยัสซิมหมดความอดทน

คนที่กำลังจะเข้าเส้นชัยคือ เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของอังกฤษ เจ้าของธุรกิจพลังงาน INEOS ที่ข้อเสนอนั้นดูดีกว่าอีกฝ่าย


- เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีรวยที่สุดในอังกฤษและเจ้าของธุรกิจพลังงาน INEOS (เครดิตภาพ: AFP) -

ที่ว่าดูดีกว่านั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของ “มูลค่า” ที่มีการประเมินแมนฯ ยูไนเต็ดเอาไว้สูงกว่าฝั่งกาตาร์ แต่เป็นเรื่องของการปรับข้อเสนอให้เป็นไปตามที่ฝ่ายของเกลเซอร์ต้องการ

จากเดิมที่มีการยื่นข้อเสนอเพื่อขอเทคโอเวอร์ทั้งหมด 100% ทางฝ่ายมหาเศรษฐีผู้ประกาศตัวเองว่าเป็นแฟนบอลปิศาจแดงตัวยงจะขอซื้อหุ้นเพียงแค่ 25% หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น

การทำเช่นนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ครอบครัวเกลเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องทั้ง 6 หรือจะเหลือแค่โจเอล และอัฟราม เกลเซอร์ ซึ่งดูแลกิจการตรงนี้ต่อจากพ่อมาโดยตลอด ได้ถือครองมหาสมบัติชิ้นนี้ต่อไปตามความประสงค์

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ถูกใจสาวก Red Army ทั่วโลกสักเท่าไรนัก เพราะมันมีคำถามทั้งในเชิงของเรื่องการบริหารสโมสรว่าการถือหุ้นแค่ 25% จะสร้างความแตกต่างได้อย่างไรในเมื่อสุดท้ายแล้วหุ้นใหญ่และอำนาจการตัดสินใจยังอยู่กับเกลเซอร์เหมือนเดิม

และคำถามอีกด้านที่น่าคิดเช่นกันในมุมของนักลงทุนว่าการที่เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ ลงทุน 1,600 ล้านปอนด์ หรือราว 7 หมื่นล้านบาทเพื่อแลกกับหุ้นจำนวนเท่านี้ถือเป็นการลงทุนที่ดีจริงๆแล้วใช่ไหม?

ตามข้อมูลจาก Forbes มีการคำนวนมูลค่าของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดเอาไว้ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาท ถือเป็นทีมฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ทีม “ราชันชุดขาว” เรอัล มาดริด สโมสรดังจากสเปนทีมเดียวเท่านั้น

จุดที่น่าสนใจคือมูลค่าของสโมสรได้เพิ่มขึ้นจากปีกลายถึง 30% ด้วยกัน จาก 4,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 (และ 4,200 ล้านดอลลาร์) เป็น 6,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

และหากเทียบกับในปี 2014 มูลค่าของแมนฯ ยูไนเต็ดเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว เพราะเมื่อ 9 ปีที่แล้วมูลค่าอยู่ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมามีเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้นที่มูลค่าของสโมสรลดลงคือปี 2019 ที่มูลค่าลดลงเหลือ 3,800 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่มีมูลค่า 4,100 ล้านดอลลาร์

โดยที่อย่าลืมว่า นี่เป็นช่วงที่ผลงานของแมนฯ ยูไนเต็ดตกต่ำลงอย่างหนักนับตั้งแต่ที่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศวางมือหลังคุมทีมมากว่า 26 ปีซึ่งเป็นยุคทองที่กวาดความสำเร็จและสั่งสมชื่อเสียงมาได้อย่างมากมาย

หากการเข้ามาของคนที่เป็นแฟนฟุตบอลเองด้วยอย่างเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ สามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของทีมให้กลับมาเป็นทีมฟุตบอลที่ดี บริหารจัดการได้ดีเหมือนสโมสรคู่แข่งทีมอื่น และกลับมาประสบความสำเร็จในสนามอีกครั้ง

ปิศาจแดงอาจจะแปลงร่างเป็นปิศาจทองได้เลย

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าธุรกิจฟุตบอลเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกับสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่จะได้รับเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมากมายมหาศาลที่มาจากทั่วโลกซึ่งสูงกว่าลีกคู่แข่งชาติอื่นแบบเทียบกันไม่ได้ โดยที่มีการคาดว่ามูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดสำหรับ Cycle ต่อไป (2025-2028) จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะในสหราชอาณาจักรเตรียมจะเพิ่มจำนวนแมตช์ถ่ายทอดสดเป็น 270 นัด

ไม่นับเรื่องของ Eyeball จำนวนนับร้อยล้านคนที่ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็พร้อมติดตามเชียร์แมนฯ ยูไนเต็ดเสมอ ซึ่งฐานแฟนฟุตบอลที่มีทั่วโลกเป็นหนึ่งใน “ไม้ตาย” ที่ทางด้าน Raine Group ใช้เป็นหนึ่งในเหตุผลการประเมินราคาการเทคโอเวอร์สโมสรไว้ที่ 6,000-8,000 ล้านปอนด์ ที่จะทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดเป็น “ทีมกีฬาที่แพงที่สุดในโลก” ทีมใหม่ทันที

ดังนั้น สำหรับเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ การเข้ามาลงทุนในขั้นนี้กับหุ้น 25% แลกกับเงิน 1,600 ล้านปอนด์อาจจะไม่ใช่การเดิมพันที่มีความเสี่ยงอะไร ต่อให้ในอนาคตแผนระยะยาวที่จะค่อยๆซื้อหุ้นเพิ่มจากครอบครัวเกลเซอร์จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม

ความเสี่ยงเดียวที่มีคือการพลาดโอกาสที่จะไม่ได้เข้ามาเป็น “เจ้าของ” สโมสรฟุตบอลที่เป็นขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าทีมนี้ ซึ่งมหาเศรษฐีที่มีใจรักกีฬาและลงทุนมาแล้วในหลายประเภท ซึ่งรวมถึงสโมสรฟุตบอลนีซ ในลีก เอิง ประเทศฝรั่งเศส และเคยคิดจะซื้อทีมเชลซีเมื่อปี 2022 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ตัดสินใจแล้วว่าเขาจะไม่ปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป ได้เท่านี้ก็เอาเท่านี้ก่อน

ระหว่างที่รอกระบวนการซื้อขายหุ้นซึ่งมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากขึ้นกว่าที่คาดเพราะต้องมีการวางแผนกันอย่างละเอียดว่าจะมีจำนวนหุ้น Class A ในมือของเกลเซอร์เอง และ Class B ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กจำนวนเท่าไรที่จะขายให้กับเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ เพื่อไม่ให้มีปัญหาการฟ้องร้องตามกฎหมายจากกลุ่มผู้ที่ต้องการต่อต้าน ก็จะมีการวางแผนสำหรับการฟื้นฟูสโมสรอันเป็นที่รักแห่งนี้

เริ่มจากการปรับโครงสร้างการบริหารที่อ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพภายใต้การนำของ ริชาร์ด อาร์โนลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของสโมสร รวมถึงจอห์น เมอร์เทอห์ ผู้อำนวยการสโมสรฝ่ายฟุตบอลที่จะมีคนใหม่เข้ามาแทนที่ ต่อด้วยการปรับนโยบายการซื้อขายผู้เล่นให้ทันสมัยเทียบเท่ากับสโมสรคู่แข่งเพื่อไม่ให้แมนฯ ยูไนเต็ดต้องจ่าย “ค่าไม่ฉลาด” มากและบ่อยเท่าเดิมอีก


- ด้านหน้าของสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด รังเหย้าของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่มีแฟนบอลแน่นขนัดแทบทุกนัดที่ลงแข่งในบ้าน (เครดิตภาพ: AFP) -

ต่อด้วยแผนการปรับปรุงโอลด์ แทรฟฟอร์ด ใหม่ที่ไม่ได้จบแค่การซ่อมหลังคาแต่ไปถึงแผนการขยายสนามให้มีความจุเพิ่มจาก 76,000 เป็น 90,000 ที่นั่ง

ถ้าทำได้จริงทั้งหมดนี้ ก็มีโอกาสที่แมนฯ ยูไนเต็ดจะคืนความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

หรือต่อให้ไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยจากแฟนบอลคนหนึ่งมาสู่การเป็นเจ้าของร่วมของทีมที่รัก ก็ถือว่าการลงทุนคุ้มค่าตั้งแต่วินาทีแรกที่ตัดสินใจแล้ว

----------------------------

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...