ระวัง ‘เศรษฐกิจโลก’ มรสุมยังคงพัดกระหน่ำ

หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิดเศรษฐกิจโลกและไทยดูจะหายใจได้คล่องตัวมากขึ้น แต่ทุกอย่างไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาทเพราะเวลานี้สัญญาณหลายตัวเริ่มส่งเสียงเตือนให้ต้องระวังกันอีกครั้ง โดยเฉพาะ “สงคราม” ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่นับวันมีแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าพัฒนาการของสงครามนี้จะขยายวงออกไปมากน้อยแค่ไหน แต่ที่เราเห็น ณ ตอนนี้ คือ ความขัดแย้งกันเองในหลายเมืองทั่วโลกกำลังจะบานปลายออกไป ซึ่งตอนนี้เราเริ่มเห็นคนในท้องถิ่นออกมาเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุนอิสราเอลและฝ่ายที่สนับสนุนปาเลสไตน์คู่ขนานกันไป บางจุดก็เริ่มมีความรุนแรงออกมาให้เห็น

สถานการณ์ดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนของทั้ง 2 ฝ่ายในแต่ละประเทศจะสร้างความรุนแรงอะไรขึ้นมาบ้าง หลายประเทศเริ่มเห็นการทำร้ายกันเอง ในขณะที่ความรุนแรงของสงครามยังมีให้เห็นต่อเนื่อง หากสงครามทวีความรุนแรงขึ้น มีประเทศอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างแน่นอน ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นราคาน้ำมันดิบตลาดโลกไต่ระดับขึ้นมาต่อเนื่อง สร้างความหนักใจให้กับธนาคารกลางหลายๆ ประเทศเพราะห่วงว่าความยากในการกำราบเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ถัดมา คือ เศรษฐกิจสหรัฐที่แม้ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาจะขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่เวลานี้ดูเหมือนว่าสัญญาณการชะลอตัวจะชัดเจนมากขึ้น สำนักวิจัยหลายแห่งมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 4 มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน แรงกดดันจากดอกเบี้ยที่สูงนานต่อเนื่อง กระทบต่อต้นทุนการเงินภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินออมส่วนเกินของภาคครัวเรือนเริ่มลดลง ขณะที่หนี้ครัวเรือนเร่งตัวมากขึ้น ที่สำคัญพบการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่พุ่งขึ้นแบบชัดเจนด้วย คงต้องติดตามว่า หากเงินเฟ้อยังดื้อแพ่งจากราคาน้ำมันที่ดีดตัวกลับขึ้นมาอีกครั้งจากไฟสงคราม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะดูแลปัญหาเหล่านี้อย่างไร 

สำหรับ “เศรษฐกิจจีน” แม้ตัวเลขไตรมาส 3 จะออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเด็นที่ผู้คนกังวลจะหมดไป เพราะจีนยังเผชิญระเบิดเวลา 3 ลูกจากทั้งหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สามารถถอดสลักเวลาออกได้เบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่เสี่ยงระเบิดได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะกระทบไปถึงธนาคารเงาที่ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มนี้จำนวนมาก ดังนั้นเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเห็นตัวเลขออกมาดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเคลียร์แล้ว

กลับมาที่ประเทศไทย ชัดเจนว่าเศรษฐกิจปีนี้ยังคงเติบโต “ต่ำกว่าคาด” อีกเช่นเดิม แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าในปีหน้าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีมาก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 4.4% ส่วนหนึ่งเพราะได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเข้ามาช่วยด้วย โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัลที่ใช้งบประมาณสูงถึง 5.4 แสนล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ละที่น่ากังวล เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์ที่เราอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ดีระดับหนึ่ง แต่ทว่าสถานการณ์ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจโลกกลับยังดูมืดมน เราเชื่อว่านักเศรษฐศาสตร์หลายคน คงอยากให้รัฐบาลเก็บเงินก้อนนี้ไว้เป็นกระสุนรองรับเวลาที่พายุมาจะดีกว่าหรือไม่?

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...