ประเทศไทยในเวทีโลก | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
วันที่ส่ง: 25/10/2023 - ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจ
ก่อนที่จะลงในรายละเอียดถึงบทบาทไทยในเวทีโลก ผู้เขียนขออนุญาตเล่าความจริงด้านเศรษฐกิจไทยเทียบกับเอเชียและอาเซียน 3 ประการ คือ
(1) หากพิจารณาเมื่อเทียบกับเอเชียแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) ของเราอยู่ในระดับต่ำมาก โดยเติบโตเฉลี่ย 1.9% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับเดียวกับญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ แต่ทั้งสามประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าไทย ถึง 5-7 เท่า หรือกล่าวโดยง่ายคือ ประเทศไทย “จน” แต่ไม่โตเร็วเหมือนเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และจีน
(2) ไทยมีระดับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) หดตัวโดยเฉลี่ย -6.0% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเมียนมา ขณะที่สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราการเติบโตของ FDI ปีละ 6-7% ส่วนมาเลเซียและอินโดนีเซีย การลงทุนโดยตรงชะลอตัวลงโดยเฉลี่ยปีละ 1-3%
(3) คนไทยคือคนวัยกลางคน โดยอายุเฉลี่ย (Median age) อยู่ประมาณ 39.7 ปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ แต่แก่กว่าเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอินโดนีเซีย หากพิจารณามาตรชี้วัดด้านประชากรศาสตร์ต่างๆ จะอยู่ระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น ภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่า ทั้งจำนวนแรงงานและกำลังซื้อของไทยจะลดลงในระยะต่อไป ขณะที่เพื่อนบ้านจะเติบโตมากขึ้น
ทั้งสามความจริงนี้บ่งชี้ว่า เรากำลังถูกลดความสำคัญลงในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาค ท่ามกลางกระแสโลกและไทยที่กำลังเปลี่ยนไปใน 4 กระแสหลัก
1.กระแส Permacrisis หรือการที่เศรษฐกิจ-สังคม การเมืองการปกครอง รวมถึงสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างต่อเนื่อง โดยหากพิจารณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสังคมโลกเผชิญกับทั้งวิกฤติสาธารณสุขขนาดใหญ่ในรอบ 100 ปี วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากการล็อกดาวน์ (และอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ในปีหน้า)
เงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ การล้มละลายของสถาบันการเงินที่สำคัญในประเทศเจริญแล้ว สงครามขนาดใหญ่ถึง 2 สงครามที่เกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี ความขัดแย้งและการประท้วงในหลายประเทศทั่วโลก
และที่สำคัญที่สุด ได้แก่ วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลจากภาวะโลกร้อน ที่นำไปสู่สภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว (Extreme weather) เช่น คลื่นความร้อน ฝนตกรุนแรง น้ำท่วมหนัก ภัยแล้ง และไฟป่า
2.กระแส China Derisking หรือกระแสสงครามเย็นระหว่างชาติตะวันตกกับจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแส Deglobalization หรือการลดระดับของกระแสโลกาภิวัตน์ลง โดยประเด็น China derisking นี้ นำมาสู่การที่ชาติตะวันตกลดบทบาทและความสัมพันธ์กับจีนลง ทั้งในด้านการค้า การลงทุนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษี การที่บริษัทขนาดใหญ่ลดการลงทุน-ถอนการลงทุนในจีน
3.กระแสการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยในรูปแบบการค้า เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบเศรษฐกิจแบบ “Factory Asia model” ที่ ทำให้เอเชียมีรายได้มากขึ้น และหันกลับมาค้าขายกันเองภายในทวีป (Intra-Asian Trade) มากขึ้น ซึ่งเป็นผลทั้งจากกระแสสังคมเมือง (urbanization) ในอาเซียนที่เพิ่มขึ้น และรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของการลงทุนในเอเชีย หลังเกิดกระแส China derisking ที่ทำให้การลงทุนไหลออกจากจีน ทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้จะย้ายฐานไปสู่ประเทศต่างๆ ในเอเชีย ที่นิตยสาร The Economist เรียกว่า “ห่วงโซ่อุปทานทางเลือกของเอเชีย” หรือ Alternate Asia หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Altasia (อัลเทเชีย)
กระแสนี้นอกจากจะเกิดขึ้นทั้งกับผู้ผลิตจากชาติตะวันตกแล้ว ผู้ผลิตในเอเชียด้วยกันเอง ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงผู้ผลิตในจีนเอง ก็หันมาย้ายฐานการลงทุนในเอเชียเพิ่มมากขึ้น
4.กระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผ่านการบูรณาการของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Internet of Thing รถยนต์ไฟฟ้า (EV) AI วิทยาการหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ จะให้ความหวังในผลผลิตและการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น
และในทางกลับกันก็เป็นแหล่งรายได้ของประเทศผู้ผลิตเช่นกัน กระแสปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ประเทศในเอเชียจับกระแสดังกล่าว และเพื่อตั้งตนเองเป็นแชมเปียนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเหล่านั้น
โดยในสิงคโปร์ พยายามจับอุตสาหกรรมการเงินและเทคโนโลยี ในเวียดนาม จุดเด่นด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นฐานการผลิตสำคัญให้กับซัมซุง ในมาเลเซีย เน้นในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IT และดิจิทัล ขณะที่อินโดนีเซีย เน้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลักในอนาคต
สำหรับประเทศไทย ภาพของกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่หลุดจากสายตาของนักธุรกิจและลงทุนโลกนั้น เป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง ที่จะดึงความสนใจของภาคธุรกิจระดับโลกกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์เบื้องต้นที่ได้เห็นจากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เช่น ประเด็นด้านการลงทุนและการเปิดตลาดใหม่ๆ ที่พยายามจะดึงให้บริษัทขนาดใหญ่มาลงทุนในไทยมากขึ้น ส่งสัญญาณว่าประเทศไทย Open for business และมีจุดแข็งหลายอย่าง (รวมถึงมีโรงเรียนนานาชาติดี และระบบการรักษาสุขภาพดี) และพยายามเน้นทั้งสองทาง
โดยไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง เช่น เน้นให้ทั้งจีนและสหรัฐเข้ามาลงทุน และหลีกเลี่ยงประเด็น Geopolitics และเน้นประเด็นที่เห็นร่วม เช่น Sustainable development goal carbon neutrality, green bond รวมถึงเน้นทั้งพัฒนารถ EV และรถเครื่องยนต์สันดาป และเน้นทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ และการพัฒนาด้านเกษตรและระบบชลประทาน เป็นความพยายามที่ดี
แต่ผู้เขียนยังกังวลจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ เช่น โครงการระยะสั้น โดยเฉพาะ Digital Wallet ที่ค่อนข้างยากในเชิงปฏิบัติ โดยเฉพาะประเด็นแหล่งเงินทุน ขณะที่โครงการระยะยาว จะมีประเด็นด้านความสำคัญและงบประมาณเช่นกัน เช่น ระหว่างระบบชลประทานและการคมนาคมขนส่ง การเลือกส่งเสริมระหว่างรถเครื่องยนต์สันดาปหรือรถ EV
สุดท้าย ประเด็นเสียงต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ ในนโยบายที่มีหลายส่วนได้เสีย เช่น การเปิดเสรี FTA โครงการประชานิยมที่ขัดกับแนวคิดของนักวิชาการ รวมถึงประเด็นความขัดแย้งเชิงสังคมต่างๆ
ด้วยงานที่ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาเช่นนี้ ความพยายามที่จะให้ไทยมี Spotlight ฉายแสงในเวทีโลกได้นั้น ก็ยังอีกยาวไกล
คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ
COP29 แหล่งเงินทุนก้อนใหญ่ ประเทศกำลังพัฒนา ใช้ปรับตัวลดโลกร้อน
การประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 29 (COP29) ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วที่กรุงบากู ส...
“ทรัมป์คัมแบ๊ก สองปีแรกอาจต่างจากสองปีหลัง”
เลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา 5 พฤศจิกายนผ่านไปแล้ว “ทรัมป์คัมแบ๊ก” กลับมาพร้อมนโยบายหลายอย่างที่หลายคนกำล...
แนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” คัมแบ็ก
ประเด็นฮอตในช่วงนี้ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ คือ โดนัลด์ ทรัมป์ คัมแบ็กประธานาธิบดีคนที่ 47 แล้วตลาด...
แผนรับมือลดโลกร้อนไทยเริ่มแล้วต้องไปให้สุด
โดยการประชุมครั้งนี้กำหนดหัวข้อ “In Solidarity for a Green World” โดยจะขับเคลื่อน 3 ประเด็นสำคัญ คือ...
ยอดวิว