แผนรัฐเคลื่อน ซอฟต์พาวเวอร์ 4 ล้านล้าน เปิด ‘รีสกิล’ 20 ล้านครัวเรือนต้นปี 67

รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายหลักในการผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์” โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปีภายในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล หรือเพิ่มรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือนประมาณ 2 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่ารัฐบาลวางแผนการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็น 3 ส่วน คือต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในส่วนของต้นน้ำคือการฝึกอบรมคน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ตามโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล

ส่วนที่ 2 คือการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 อุตสาหกรรม เช่น อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เป็นต้น ซึ่งในการประชุมครั้งแรกตัวแทนของแต่ละอุตสาหกรรมได้มีการนำเสนอแผนแล้วว่าจะมีการผลักดันในระยะ 100 วัน 6 เดือน ถึง 1 ปีจะมีอะไรบ้าง และอยากให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องอะไร

และส่วนที่ 3 คือการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ของไทยออกไปสู่เวทีโลก ในพื้นที่ที่สอดคล้องแล้วมีการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสของประเทศไทยที่จะนำซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ผ่านการทำงานของทูต และทูตพาณิชย์ที่อยู่ในประเทศต่างๆ

โดยภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งแรกที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลได้วางแผนในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่องโดยนายกรัฐมนตรีได้มีการลงนามในคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ชื่อว่า "คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ" ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธาน

ระดมกูรู-หัวหน้าส่วนราชการดันซอฟต์พาวเวอร์ 

ส่วนตนเองจะเป็นรองประธาน มี ดร.พันศักดิ์ วิญญูรัตน์ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ และมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในกรรมการชุดนี้กว่า 49 คน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีการทำงานในระดับหน่วยงานต่างๆเพื่อให้เกิดการผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่างๆให้มีความคืบหน้ามากที่แล้วเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ในการพิจารณา โดยกรรมการชุดนี้จะมีการประชุมในวันที่ 25 ต.ค.นี้ในเวลา 14.00 น.ที่กระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับวาระการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จะมีการลงรายละเอียดในเรื่องต่างๆโดยเฉพาะการทำระบบที่จะให้ประชาชนจากทุกครอบครัวสามารถมาลงทะเบียนอย่างรวดเร็ว โดยให้มาลงทะเบียนที่กองทุนหมู่บ้าน โดยจะมีการจัดระบบทั้งให้ลงทะเบียนในกองทุนหมู่บ้าน และการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์

เปิดลงทะเบียน 20 ล้านครัวเรือน ต้นปี 2567 

โดยก่อนหน้านี้นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กองทุนหมู่บ้าน และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ไปพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา โดยระบบนี้จะใช้เวลาในการพัฒนาไม่เกิน 3 เดือน และคาดว่าต้นปี 2567 ก็จะเริ่มเปิดให้ประชาชนจากทุกครอบครัวลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการซอฟต์พาวเวอร์ได้ โดยหลักการจะให้ทุกครอบครัวส่งตัวแทนแต่ละครอบครัวมาลงทะเบียนแล้วระบุว่าต้องการจะเป็นอะไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเด็ก จะเป็นผู้ใหญ่ หรือคนแก่ก็ได้อาจเป็นคนที่เกษียณแล้วก็สามารถที่จะมาร่วมในโครงการ ซึ่งในภาพใหญ่จะเห็นการอัพสกิล รีสกิล คนไทยครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

ขณะที่ส่วนที่จะมีการพัฒนาควบคู่ไปคือการพัฒนาศูนย์บ่มเพาะที่จะพัฒนาและสร้างทักษะซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆให้กับประชาชนได้หารือกับกระทรวงศึกษา และกระทรวงอว.แล้วว่า จะมีการตั้งศูนย์บ่มเพาะทั้งในโรงเรียนมัธยม สถานอาชีวะศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยจะวางการบ่มเพาะออกเป็นระดับขั้น ตั้งแต่ในระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูงที่จะพัฒนาให้มีทักษะมากยิ่งขึ้น รวมทั้งดูในกลุ่มที่มีพรสวรรค์ (talent) ให้มีการพัฒนาทักษะต่างๆต่อเนื่องได้อย่างรวดเร็ว

 

“ต้องส่งเสริมให้คนของเราเอาทักษะส่วนนี้ไปทำเป็นอาชีพ และสร้างรายได้ โดยสร้างทักษะที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมาเช่น นักมวยก็คือทักษะ หรือในเรื่องเกม แฟร์ชั่น ก็สามารถที่จะสร้างเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เสริมหรือรายได้หลักของครอบครัว โดยต้องมุ่งไปที่การ รีสกิล อัพสกิลใหม่ได้ โดยเป้าหมายคือคนของประเทศไทยจะต้องหลุดพ้นจากการใช้แรงงาน หยาดเหงื่อและคราบน้ำตาสักที”

จัดบิ๊กอีเวนท์ปลายปียาวถึงสงกรานต์ปีหน้า

นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าวต่อว่าในส่วนของเรื่องการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่จะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน และเร่งรัด ในระยะเร่งด่วนของรัฐบาลคือเรื่องของงานที่เกี่ยวกับการจัด “เฟสติวัล” โดยงานที่จะต้องเร่งคือเทศกาลที่จะมีการจัดเป็นงานใหญ่ก่อนสิ้นปี โดยรัฐบาลจะเริ่มจัดงานใหญ่ตั้งแต่วันลอยกระทง ไปจนถึงเทศกาลเคาท์ดาวน์ปีใหม่ ซึ่งในคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องเทศกาลที่จะผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ คือ คุณชฎาทิพ จูตระกูล เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันกับ ททท.และผู้ว่าราชการ กทม.แล้วไปพอสมควร โดยจะมีการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบพร้อมกันเพื่อเตรียมความพร้อม

“ในส่วนของเทศกาลใหญ่ที่จะจัดใน กทม.ตั้งแต่กลางเดือน พ.ย. ไปถึงงานลอยกระทง และต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีนี้จะใช้ชื่อว่า “Colorful Bangkok Winter Festival” ซึ่งการจัดงาน จะมีกิจกรรมต่างๆของ กทม. ททท.ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรม ตกแต่งไฟให้สว่างไสวตระกาลตา มีการเตรียมงานประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ถือเป็นเทศกาล Winter Festival ที่จะทำให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ของการจัดงานเทศกาลของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเป็น The World Festival Country เป็นประเทศแห่งเทศกาลที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และต่อจากเทศกาฤดูหนาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์รัฐบาลได้เตรียมการจัดเทศกาลใหญ่โดยจะจัดกิจกรรมตลอดเดือน เม.ย.2567 ซึ่งเป็นเทศกาลระดับใหญ่ของโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าในปีที่ผ่านมาๆ”

ดันร่างกฎหมายจัดตั้ง "THACCA" ภายใน 1 ปี 

สำหรับเรื่องของการผลักดันเรื่องของการออกกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์รัฐบาลเตรียมการที่จะผลักดันการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในการก่อตั้งหน่วยงาน “Thailand Creative Content Agency” หรือ “THACCA” โดยหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นจะเป็นองค์กรที่ดูแล ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้เป็นลักษณะขององค์การมหาชน ที่เกิดง่ายและตายง่ายแต่หน่วยงานนี้จะเป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ.ในระยะยาว

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการฯในวันที่25 จะมีการเสนอร่างกฎหมายและกรอบของกฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้ง THACCA เพื่อที่จะให้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์พิจารณาก่อนไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม และเสนอเข้าสู่ ครม.ต่อไป หน่วยงานนี้จะมี พ.ร.บ.ของตัวเอง ดังนั้นในแง่ของไทม์ไลน์การทำร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.แล้วจะเปิดรับความคิดเห็น และในเดือน ม.ค.2567 ร่างกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.และส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเตรียมเข้าสู่สภาฯต่อไป ซึ่งกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯภายใน 6 เดือน และจะแล้วเสร็จในปี 2567

หากเราดูตัวอย่างของเกาหลีใต้ที่เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ ในการบริหารได้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างกระทรวงวัฒนาธรรมของเกาหลีใต้ และหน่วยงานThe Korea Creative Content Agency (KOCCA ) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยกระทรวงวัฒนธรรมทำในส่วนการดูแลโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ดูและรักษาประเพณี สิ่งที่เป็นมรดกโลกในประเทศ ส่วนเรื่องที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลสามารถที่จะต่อยอดได้เป็นประเด็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ KOCCA ก็จะเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งไทยจะเรียนรู้จากเกาหลีใต้ในการผลักดันเรื่องนี้

งบดำเนินการสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ปีแรกหมื่นล้าน

“ในการวางโครงสร้าง การจัดหน่วยงานราชการให้ทำงานเรื่องการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน โดยหลักของเรื่องนี้คืออะไรที่เป็นความซ้ำซ้อน อะไรทีสะเปะสะปะไม่เป็นยุทธศาสตร์ก็ต้องมาปรับเปลี่ยนทั้งในส่วนของกระทรวง และองค์กรมหาชน ก็ต้องพิจารณาว่าจะเข้ามาทำงานร่วมกันใน THACCA ให้ได้เพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยในการใช้งบประมาณในส่วนนี้เราปรับใช้จากส่วนที่เป็นงบประมาณด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเราไปดูว่างบประมาณทีเสนอมาแล้วมีวัตถุประสงค์เรื่องของการทำนโยบายเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งเฉพาะงบประมาณที่ยังไม่รวมกองทุนต่างมีวงเงินอยู่ประมาณ 7 พันล้านบาท หากรวมกับกองทุนต่างๆก็จะมีวงเงินอยู่ประมาณ อยู่ถึงหมื่นล้านบาท”

สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยให้ไปเวทีระดับโลกรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการทำงานไว้ในระยะเวลา 1 ปี โดยการไปงานระดับโลกได้เร็ววิธีหนึ่งก็คืคือเอาสิ่งที่ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยอยู่แล้วไปสู่เวทีโลก เช่นในเรื่องอาหารไทย ทั่วโลกนั้นรู้จักอาหารไทยอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้อาหารไทยนั้นไปไกลทั่วโลกได้มากขึ้น

สิ่งที่รัฐบาลตั้งใจก็คือทำโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ซึ่งประเทศไทยมี 7.5 หมื่นหมู่บ้าน รัฐบาลก็จะมีการอบรมคนให้สามารถเป็นหัวหน้าเชฟในร้านอาหารไทยทั่วโลกได้ โดยร้านอาหารไทยจะสนับสนุนให้เปิดในต่างประเทศได้มากขึ้นเพื่อให้คนต่างชาติได้รับรสชาติอาหารไทยที่แท้จริง ซึ่งต่อไปก็ต้องดูให้ครบวงจรทั้งในเรื่องของกฎระเบียบ กติกาที่จะช่วยให้เกิดการตั้งร้านอาหารไทยในต่างประเทศ รวมทั้งการมีกองทุนที่จะสนับสนุนการตั้งร้านอาหารไทยในต่างแดนโดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น

 

“ในระยะเวลา 4 ปีรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าเราควรจะมีร้านอาหารไทยทั่วโลกประมาณ 1 แสนร้านค้า จากปัจจุบันมีแค่ 2 หมื่นร้านเท่านั้น และทำให้คุณภาพของร้านอาหารไทยนั้นสามารถที่จะได้รับการยอมรับและจัดระดับคุณภาพเหมือนกับที่มิชลินให้รางวัล หรือให้ดาวเหมือนที่มิชลินทำ เป็นตรารับรองคุณภาพอาหารไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนอาหารไทยไปสู่ระดับโลกและได้รับการยอมรับมากขึ้น”

สำหรับการส่งเสริมงานเทศกาลในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกมากขึ้น เช่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งงานนี้ของไทยนั้นถือว่าใหญ่ที่สุดในระดับอาเซียน โดยในเอเชียมีงานหนังสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 1 ใน 4 และไทยติดอันดับที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก แต่ว่างานสัปดาห์หนังสือของไทยยังไม่มีการถูกพูดถึงในระดับโลกมากนัก ควรจะต้องทำให้มีการส่งเสริมอย่างเอาจริงเอาจัง และส่งเสริมให้มีการนำเอาวรรณกรรมไทยไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากขึ้น โดยได้มีการพูดคุยกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยแล้ว จะได้มีการสนับสนุนและโปรโมทงานเขียนของนักเขียนไทยให้มากขึ้น

รวมถึงจะมีการส่งเสริมให้มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง เช่น ฟื้นเทศกาล Bangkok Film Festival ให้มีความยิ่งใหญ่มากขึ้น ซึ่งได้มีการคุยกับหม่อมราชวงศ์ เฉลิมชาตรี ไว้แล้วว่าจะมีการจัดและโปรโมทให้เป็นเทศกาลใหญ่อีกส่วนหนึ่ง รวมทั้งจะมีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆเพื่อให้การส่งเสริมภาพยนตร์ไทยเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ในเรื่องของศิลปะจะมีการแก้ปัญหาเรื่อง ภาษีอุปกรณ์ศิลปะที่จะนำเข้ามาประเทศไทยนั้นเสียภาษีแพงมากถึง 30% หากมีการปรับลดภาษีนำเข้าจะเปิดให้นำเข้ามามากขึ้นและทำให้มีการเรียนศิลปะและฝึกฝนงานศิลปะมากขึ้น ซึ่งดูจากข้อจำกัดบางเรื่องสามารถที่จะแก้ไขในคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและเสนอขอเข้าแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทันที

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...