'พลังงาน' ชงรัฐบาลใหม่ เคาะเปิดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ‘ไทย-กัมพูชา’

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยพรรคเพื่อไทยที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล ได้กำหนดนโยบายเร่งพื้นที่ทับซ้อน เพื่อให้ได้แหล่งก๊าซธรรมชาติราคาถูก และสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากค่าภาคหลวง

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การเจรจากับกัมพูชาเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา คงต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณาเพราะเป็นเรื่องระดับนโยบาย 

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ต่อ ครม.หลังจากเดือน ธ.ค.2565 ฝ่ายไทยได้หารือกับนายซุย แซม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา เพื่อพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) พื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร โดยใช้โครงสร้างคณะกรรมการร่วม (Joint Committee : JC) ระหว่างไทย-กัมพูชา

รวมทั้งได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยไทยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก โดยประชุมร่วมกับกัมพูชาแล้ว 1 ครั้ง และจากนี้ต้องดูรายละเอียดแนวเขตที่กระทรวงการต่างประเทศยังกังวลและต้องหาทางออก ส่วนกระทรวงพลังงานทำงานร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อเดินหน้าการเจรจา

ต้องสรุปข้อเสนอแบ่งผลประโยชน์

ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะสรุปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อยุติก่อนการพัฒนาร่วม โดยดำเนินการเจรจาควบคู่กับการเจรจาเพื่อแบ่งเขตในพื้นที่ตอนบน (เหนือละติจูดที่ 11 องศาเหนือ) โดยไม่อาจแบ่งแยกได้ รวมทั้งสรุปข้อมูลใน 6 ประเด็น ดังนี้

1.สัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลทั้งสอง 

2.ระบบจัดเก็บรายได้ที่จะนำมาใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วม 

3.การจัดสรรสิทธิของผู้ได้รับสัญญาหรือผู้รับสัมปทานเดิมของแต่ละประเทศ รวมถึงการกำหนดผู้ดำเนินงาน

4. ระบบกรือโครงสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่ประเด็นสำคัญ ได้แก่องค์กรก้ากับดูแลการจัดสรรงบประมาณออกกฎหมายภายในต่างๆ เพื่อรองรับการด้าเนินงานขององค์กรกำกับดูแล 

5.ประเด็นด้านศุลกากร ภาษีอากรและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 

6.ประเด็นอื่นๆ เช่น การประมง การวางท่อ อุทกศาสตร์ และสมุทรศาสตร์

พื้นที่ทับซ้อนติดแหล่ง“เอราวัณ”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเคยมีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับมาเลเซียสรุปเป็น JDA ในปี 2522 ใช้เวลาเจรจา 11 ปี ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับเวียดนามใช้วิธีแบ่งเส้นเขตแดนเมื่อปี 2540 ใช้เวลาเจรจา 7-8 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามให้น้ำหนักกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้มากกว่า

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชามีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อนมีการพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ จึงมีแนวโน้มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยให้สัมปทานไปเมื่อปี 2511 และให้หยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.ปี 2518 ที่ให้ยุติสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหยุดลง

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมี 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจาเป็น 2 ส่วน คือ 

1. พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ 

2. พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย

ทั้งนี้ สิทธิสัมปทานยังคงเป็นของผู้รับสัมปทาน โดยรัฐบาลไม่ได้ยกเลิกเพื่อเป็นการยืนยันว่าไทยยังอ้างสิทธิอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลสัมปทานขณะนั้นได้หยุดนับเวลาอายุสัมปทานจนถึงปัจจุบัน โดยผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย

1. แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%

2. แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%

3. แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%

4. แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%

5. แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...