ผ่าแหล่งเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 5.6 แสนล้าน ยืม รสก. - รีดภาษี - เกลี่ยงบฯปี67

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเป็นครั้งที่ 2 ในวันนี้ (19 ต.ค.2566)

หลังจากการประชุมครั้งแรกให้โจทย์หน่วยงานต่างๆ เช่น การมอบหมายให้สมาคมธนาคารรัฐพิจารณาผู้จัดทำระบบเติมเงินในลักษณะ e-Money ที่มีเงื่อนไขผ่านทางกระเป๋าเงินดิจิทัล ขณะเดียวกันมอบให้ผู้แทนสำนักงานตำรวตแห่งชาติดูการป้องกันทุจริต ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะช่วยยืนยันร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ เปิดเผยว่า แหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการนี้แม้ว่าประเมินว่าขนาดของโครงการจะอยู่ที่ 540,000 ล้านบาท เพราะประเมินจากผู้ลงทะเบียนในโครงการนี้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป อาจมีจำนวน 54 ล้านคน โดยในกรอบวงเงินที่หารือในคณะอนุกรรมการฯ ยังคงกำหนดกรอบไว้ที่ 560,000 ล้านบาท ตามเดิมที่รัฐบาลได้มีการออกแบบไว้

สำหรับแหล่งเงินนั้นรัฐบาลกำหนดแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ 4 ส่วน ได้แก่ 

1.รายได้จากเงินที่รัฐบาลจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 260,000 ล้านบาท จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นในระดับ 5% 

อย่างไรก็ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐในส่วนนี้ภาครัฐจะเข้ามาในช่วงปลายปีงบประมาณ 2567 หรือในช่วงต้นปีงบประมาณ 2568 ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi -fiscal Measures) โดยยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้ไปก่อน แล้วรัฐบาลจะทยอยตั้งงบประมาณชดเชยคืนให้ในภายหลัง

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีบอกว่าแนวทางนี้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณทยอยจ่ายคืนให้กับรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลมีการยืมเงินปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณในปีงบประมาณต่อไปและจะไม่กระทบกับเครดิตเรตติ้งของประเทศ

2.รายได้ที่เพิ่มจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มที่คาดว่าได้รับเพิ่มเติมจากมาตรการเงินดิจิทัล ประมาณ 100,000 ล้านบาท 

3.การปรับลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพจากงบประมาณปี 2567 ส่วนอื่นอีกประมาณ 110,000 แสนล้านบาท

4.การดึงเงินงบประมาณเหลือจ่ายในปี 2566 ที่หน่วยราชการเบิกจ่ายไม่ทันกับการปรับลดเงินสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนมาใช้จ่ายในโครงการนี้แทน 90,000 ล้านบาท

เริ่มโครงการช้าดันจีดีพีน้อยลง

แหล่งข่าว กล่าวว่า จากการประเมินมูลค่าเศรษฐกิจที่จะเกิดกับโครงการนี้จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นจะใช้ตัวเลขในการคำนวณเศรษฐกิจ 3.6 แสนล้านบาท เนื่องจากต้องปรับลดวงเงินบางรายการที่ลดลงจากการเกลี่ยงบประมาณจากโครงการอื่นๆที่ลดลงประมาณ 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้การประเมินตัวคูณทางการคลัง (Multiplier) จากนโยบายนี้อยู่ที่ประมาณ 0.4 -0.7 เท่า ทำให้ผลกระทบต่อจีดีพีคิดเป็น 0.8-1.3% ของจีดีพี ในปี 2567 หรืออาจจะเป็น 0.6 -0.98% ของจากโครงการหากโครงการนี้เริ่มได้ล่าช้ากว่าไตรมาสที่ 1 ในปี 2567 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่ประเมินไว้  

ก่อนหน้านี้นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตามที่มีข้อเสนอมาจากหลายฝ่ายก็พร้อมรับฟัง อย่างในเรื่องเงื่อนไขรายได้ ซึ่งก็ได้มีการให้อนุกรรมการไปพิจารณาเกี่ยวกับเงื่อนไขสำหรับกลุ่มคนที่ควรได้รับการเติมเงิน เช่น หลักเกณฑ์การดูว่าคนรวยเป็นอย่างไร เช่น ควรดูที่เงินฝาก ที่ดิน หรือการเสียภาษี อย่างไรก็ดี โครงการนี้จะไม่ได้ดูเรื่องความรวยหรือจน เพราะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนยากจน แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ มุมมองการใช้จ่ายของคนที่มีรายได้สูงจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ หรือเพียงเอาเงินไปออมแทน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...