‘Flash Coffee’ ปิดทุกสาขาในสิงคโปร์ ‘ไทย’ ติดลบต่อเนื่อง ขาดทุน 100 ล้านบาท

“แฟลช คอฟฟี่” (Flash Coffee) ร้านกาแฟสตาร์ตอัปสัญชาติอินโดนีเซียประเดิมสาขาแรกในบ้านเกิดเมื่อปี 2020 และสามารถขยายไปอีกหลายประเทศทั่วเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไทยที่มีสาขากระจายทั่วทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ล่าสุดสำนักข่าว “เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์” (South China Morning Post) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดของ “แฟลช คอฟฟี่” ในประเทศสิงคโปร์ว่า บริษัทปิดทำการร้านแฟรนไชส์ทุกสาขาในสิงคโปร์ทั้งหมดแล้ว โดยโฆษกของแบรนด์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของบริษัทจะไม่กระทบกับสาขาในประเทศอื่นๆ อาทิ สาขาในฮ่องกงที่ยังคงดำเนินกิจการตามปกติ พร้อมกันนี้บริษัทจะยังคงเดินหน้าลงทุนและขยายตลาดในภาคส่วนอื่นๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตามในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวระบุถึงสาเหตุการถอนทัพจากสิงคโปร์ของ “แฟลช คอฟฟี่” ว่า อาจมาจากสองประเด็นหลักๆ คือภาระหนี้สินบริษัทที่เพิ่มขึ้น ส่งผลถึงการหยุดงานประท้วงของพนักงานเนื่องจากการจ่ายเงินเดือนที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทว่า โฆษก “แฟลช คอฟฟี่” ออกมายืนยันภายหลังว่า พนักงานในสิงคโปร์ไม่ได้มีการนัดหยุดงานประท้วงแต่อย่างใด บาริสต้าและพนักงานในส่วนอื่นๆ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แล้วเนื่องจากร้านค้ามีการหยุดดำเนินการไปก่อนหน้า

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการปิดตัวลงในสิงคโปร์ “แฟลช คอฟฟี่” ได้ประกาศถอนตัวออกจากไต้หวันไปเมื่อเดือนมีนาคม 2566 รวมถึงสาขาในไทยที่มีการระบุบนเว็บไซต์ทางการว่า เปิดให้บริการกว่า 84 สาขานั้น ผู้สื่อข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ได้ทำการสำรวจข้อมูลล่าสุดบนแอปพลิเคชัน “แฟลช คอฟฟี่” พบว่า ปัจจุบันมีสาขาเปิดบริการทั้งหมด 42 สาขา ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งหลังจากเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563

สำหรับข้อมูลผลประกอบการของ “บริษัท แฟลช คอฟฟี่ ทีเอช จำกัด” พบว่า ยังคงมีตัวเลข “ติดลบ” ต่อเนื่องกันทั้งสองปี ดังนี้

ปี 2563: รายได้รวม 3.2 ล้านบาท ขาดทุน 8.5 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้รวม 60 ล้านบาท ขาดทุน 100 ล้านบาท

แม้โฆษก “แฟลช คอฟฟี่” จะยืนยันว่า ในอนาคตบริษัทมีแผนขยายตลาดเพิ่มเติมในระยะกลาง รวมทั้งต้องการบริหารให้ธุรกิจดำเนินการอย่างแข็งแรงในระยะยาวได้ แต่หากไล่เรียงดูจากสถานการณ์ในรอบปีที่ผ่านมาเราคงต้องจับตาดูเชนกาแฟสายฟ้าแห่งนี้ต่อไป สำหรับประเทศไทยมีทายาทตระกูลดัง “พันธุ์ไพบูลย์ ลีนุตพงษ์” นั่งกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้บริหารกิจการในไทย

 

อ้างอิง: Bloomberg, CNA, Creden Data, Flash Coffee, Forbes Thailand, South China Morning Post

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...