ดิจิทัลวอลเล็ต: ความหมกมุ่นใน Growth และต้นทุนของความไม่รู้

นโยบายเรือธงของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการกว่า 100 ชีวิตในหลากหลายหน่วยงาน ร่วมลงชื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว โดยตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของนโยบายและผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง

ในขณะที่รัฐบาลและฝ่ายที่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงินแบบให้เปล่าขนานใหญ่แบบครั้งเดียว (Large-scale, one-off cash handout) ครอบคลุมประชากรหลายสิบล้านคนอย่างดิจิทัลวอลเล็ตว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยนั้นซบเซามายาวนาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ฝ่ายที่ต่อต้านอธิบายว่า เศรษฐกิจไทยนั้นกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ไม่ถือว่าอยู่ในขั้นโคม่าจนถึงต้องใช้ยาแรงที่มีราคาแพงกว่า 560,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีอีก 4 ประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่ายังไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในวงสนทนา จึงเป็นที่มาของบทความนี้

ประเด็นแรก ดิจิทัลวอลเล็ตคือกระสุนสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจเป็นเพียงตัวเลขที่ไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับคุณภาพชีวิตของประชาชนดังที่หวัง

นักเศรษฐศาสตร์รู้จักผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ดีกว่าใคร ไม่ใช่แค่รู้ว่า GDP มีวิธีการคำนวณที่หลากหลาย (ด้านผลผลิต ด้านรายได้ และด้านรายจ่าย) แต่รวมถึงข้อจำกัดของ GDP ในการวัดสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชากร

บ่อยครั้งที่การเพิ่มขึ้นของ GDP ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนา (Growth without development) โดยเฉพาะในกรณีของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเฉกเช่นไทย

ประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อการจ้างงาน อาจลดน้อยลงหากสาขาการผลิตไม่สามารถดูดซับแรงงานได้ การคำนึงถึงที่มาของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Sources of growth) จึงสำคัญไม่แพ้การหมกมุ่นกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน

แม้การเพิ่มขึ้นของ GDP จะเป็น KPI ของรัฐบาล แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพียงเพราะต้องการ Growth ไม่ควรหลงลืมความหยาบของ GDP ในฐานะตัวชี้วัดการทำงานของระบบเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าสำนักใด ไม่ควรคาดหวังให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นคำตอบของทุกสิ่ง

เพราะผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ในหลากหลายบริบท ชี้ให้เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น แม้จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ (Necessary but not sufficient) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์รู้ประเด็นเหล่านี้ และเป็นหน้าที่ที่ต้องเน้นย้ำ (Emphasise) ประเด็นดังกล่าวให้กับสาธารณะ

ประเด็นที่สอง เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติทั้งรายได้ ทรัพย์สิน และการศึกษา และปัญหาดังกล่าวถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ดิจิทัลวอลเล็ตถูกอ้างว่าสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เพราะรวย-จน ต่างได้ประโยชน์เหมือนกันหมด

อย่างไรก็ตาม การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เป็นคนละเรื่องกับการลดความยากจน การกระจายรายได้จะดีขึ้นได้หากมีการใช้นโยบายที่ส่งผลให้มีการจัดสรรทรัพยากรใหม่ อาทิ การเก็บภาษีแบบก้าวหน้า การให้เงินช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม และการเปิดเสรีการค้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับการจ้างงาน เป็นต้น

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลงกว่าเดิมหากประโยชน์ของนโยบายถูกบดบังด้วยต้นทุนที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการเข้าถึงสวัสดิการ เช่น จำเป็นต้องเดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อใช้ดิจิทัลวอลเล็ต หรือต้องย้ายทะเบียนบ้านเพื่อให้สามารถใช้ดิจิทัลวอลเล็ตในบริเวณที่ใกล้เคียงกับที่ทำงานหรือที่อยู่ปัจจุบัน

ประเด็นที่สาม รัฐควรคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต วันนี้ ไทยเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และในมิติอื่น คุณภาพการศึกษา การยกระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลก

รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมสำคัญอย่างยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ยังคงต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพการผลิต

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยใช้งบประมาณกว่า 3 แสนล้านไปกับการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยไม่ปรากฏผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ราคาของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในรูปของต้นทุนค่าเสียโอกาสอาจสูงกว่ากรณีของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ประเด็นที่สี่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด คือการขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือ (Credible empirical evidence) นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ราคาแพงเพราะเป็นการแจกเงินจำนวนมาก (เทียบกับการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนละ 200 บาท ถึงจำนวน 50 เดือน)

แต่นโยบายดังกล่าวขาดหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือให้ผลสืบเนื่องไปยังการจ้างงาน การลดความยากจน และปัญหาอื่น ๆ ที่เร่งด่วน

แน่นอนว่าการศึกษาหรือการทดลองการใช้นโยบายแบบนำร่อง (Pilot project) มีต้นทุนทางด้านระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิจัย แต่ต้นทุนดังกล่าวเทียบไม่ได้เลยกับการใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีใครทราบถึงโอกาสของความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบาย  ต้นทุนของความไม่รู้อาจสูงกว่าต้นทุนในการแสวงหาความรู้

Banerjee และ Duflo สองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ. 2019 ผู้เขียนหนังสือ “Good Economics for Hard Times” ระบุว่า ความหมกมุ่นในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้นักเศรษฐศาสตร์เดินหลงทิศ คิดผิดทาง และส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจไม่ถูกต้อง การกลับมาทบทวนอาวุธให้ตรงกับเป้าหมายดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมมากกว่าในกรณีของประเทศกำลังพัฒนาเฉกเช่นไทย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...