บะหมี่ฯยังโต ‘มาม่า’ ลงทุนใหญ่รอบ 20 ปี ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

ปัจจุบัน “มาม่า” ไม่เพียงแต่มุ่งสร้างการเติบโตในประเทศ แต่ยังพยายามสยายปีกสู่ตลาดโลกมากขึ้น สานเป้าหมายระยะยาว โกยขุมทรัพย์รายได้จากต่างแดนแตะ 40-50% จากสัดส่วนเดิม 30% และในประเทศ 70% เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าวบริษัทจึงประกาศแผนลงทุนใหญ่รอบ 20 ปี เทงบกว่า 2,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตบะหมี่ฯแห่งใหม่

  • ลงทุนใหญ่ 20 ปี รองรับ “มาม่า” โตอีก 10 ปี

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนใหญ่ในรอบ 20 ปี เพื่อสร้างโรงงานผลิตบะหมี่ฯ แบรนด์มาม่าแห่งใหม่ เบื้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจเลือกพื้นที่ตั้งโรงงาน ระหว่างเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน หรือทำเลยุทธศาสตร์ที่เชื่อมเศรษฐกิจการค้าของไทยในภาคอีสาน ลุ่มแม่น้ำโขง

ทั้งนี้ โรงงานใหม่ต้องการพื้นที่ 50-60 ไร่ เพื่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องจักร 8 ตัว ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบะหมี่ฯ โดยจะยกระดับโรงงานใหม่เป็น Smart Factory ด้วย และคาดการณ์จ้างงานราว 700-800 คน

กระบวนการผลิตบะหมี่ฯมาม่า

สำหรับโรงงานแห่งใหม่จะเพิ่มกำลังการผลิตบะหมี่ฯ ทั้งแบบซอง และแบบถ้วย (คัพ) ราว 30% ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตมาม่าทั้งสิ้น 8 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 4 แห่ง อยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กำลังการผลิต 261.53 ตัน/วัน จ.ลำพูน กำลังการผลิต 136.08 ตัน/วัน และจ.ระยอง กำลังการผลิต 94.01 ตัน/วัน และเป็นโรงงานผลิตเส้นขาว (เส้นหมี่ เส้นเล็ก) ผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ที่จ.ราชบุรี มีกำลังการผลิตรวม 60.32 ตัน/วัน

นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตบะหมี่ฯ ต่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี มีกำลังการผลิตรวม 16,044 ตัน/ปี

หากแบ่งประเภทกำลังการผลิตบะหมี่ฯแบบซองอยู่ที่ 964,320 หีบ/เดือน (1 หีบมี 180 ซอง) หรือผลิตราว 2,000 ล้านซอง/ปี กำลังการผลิตบะหมี่ฯ คัพอยู่ที่ 1,159,498 หีบ/เดือน (1 หีบมี 36 คัพ) หรือผลิตราว 500 ล้านคัพ/ปี กำลังการผลิตผลิตภัณฑ์จากข้าวอยู่ที่ 193,125 หีบ/เดือน

“โรงงานผลิตบะหมี่ฯมาม่าแห่งใหม่ ถือเป็นการลงทุนใหญ่ในรอบ 20 ปี และจะรองรับการเติบโตของยอดขายได้ราว 10 ปี”

  • หวนคืนตลาดบะหมี่ฯใน “จีน-เวียดนาม”

ด้านการทำตลาดมาม่า จากนี้ไปบริษัทให้ความสำคัญในการบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ผ่าน 2 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.เติมสินค้าใหม่สร้างความหลากหลายและแข็งแกร่งในตลาดเดิม ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่งออกมาม่าไปจำหน่าย 68 ประเทศทั่วโลก มุ่งขยายช่องทางจำหน่ายจากร้านค้าชุมชนชาวเอเชีย ไปสู่ช่องทางหลัก ห้างค้าปลีกต่างๆมากขึ้น และ 2.นำสินค้าไปขยายตลาดประเทศใหม่ๆ เช่น การหวนคืนสู่ตลาดจีนอีกครั้งในรอบกว่า 20 ปี หลังจากได้ถอยทัพการผลิตบะหมี่ฯ และบรรจุภัณฑ์ ที่เมืองคุณหมิง และเมืองชิงเต่าของจีนราวปี 2541-2543

ร้านอาหารอีกกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนผู้ชื่นชอบ "มาม่า"

“เราจะกลับเข้าไปทำตลาดบะหมี่ฯ ในจีนอีกครั้ง เพราะพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนไป ไม่ได้ทานมันและเผ็ดเท่านั้น อีกทั้งเวลามาเที่ยวไทยนิยมซื้อมาม่าต้มยำกุ้งกลับไป ส่วนกลยุทธ์จะใช้ KOL สร้างสรรค์คอนเทนต์ นำเสอนผ่านแพลตฟอร์ม TikTok หรือจีนเรียก Douyin ซึ่งการบุกตลาดครั้งนี้มองโอกาสจากประชากรจีนที่มีมหาศาลมากกว่าไทย 20 เท่า หากสามารถขายมาม่าให้ผู้บริโภคจีนได้เพียง 1% จะทำยอดขายแซงไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังบุกตลาดทวีปแอฟริกา ประเดิมประเทศเคนย่า หลังจากบริษัทผนึกพันธมิตรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ในการผลิตบะหมี่ฯ ให้ ระหว่างนี้จะศึกษาตลาดในพื้นที่รวมถึงพาร์ตเนอร์ เพื่อที่อนาคตอาจเข้าไปถือหุ้นในโรงงานผลิตบะหมี่ต่อไป

บริษัทยังมองตลาดอาเซียน อย่างประเทศเวียดนามด้วย หลังจากถอยทัพเมื่อปี 2542 โดยเวียดนามเป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพเติบโต แต่ยอมรับว่าแต่ละพื้นที่มีเจ้าถิ่นที่แข็งแกร่ง เข้าไปแข่งขันลำบาก เช่นเดียวกับผู้เล่นแบรนด์จากชาติอื่นจะเข้ามาไทย ต้องเจอความแข็งแกร่งของมาม่า และสนใจอินเดีย เนื่องจากตลาดใหญ่ ประชากรมหาศาล เป็นต้น

มาม่าส่งออกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เป็นสินค้าที่สอดคล้องกับการส่งเสริมครัวไทยก้าวไกลสู่ครัวโลก และจากการที่รัฐมีนโยบายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ มาม่าจะพยายามนำแบรนด์ไปอยู่ในซีรีส์ มีการพัฒนารสชาติใหม่ให้สอดคล้องกับอาหารที่รัฐจะส่งเสริม จากปัจจุบันมาม่าต้มยำเป็นจุดขายที่ดึงดูดผู้บริโภค

มาม่าต้มยำกุ้งพร้อมต่อยอดการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย

  • ขยายธุรกิจอาหาร ต่อยอดแบรนด์ “มาม่า”

“มาม่า” เป็นเบอร์ 1 บะหมี่ฯ มา 50 ปี แต่โจทย์ระยะยาวคือการสร้างแบรนด์ให้ครองใจผู้บริโภครุ่นใหม่ เด็กที่จะเติบโตในอนาคต เช่น 8 ขวบวันนี้ ต้องรู้จักสินค้าในวันหน้า หนึ่งในกลยุทธ์สร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และมองเห็นแบรนด์ (Brand visibility) คือการเปิดร้านอาหาร ปัจจุบันในไทยมีทั้งโมเดลมาม่า สเตชั่น ที่พันธมิตรสนใจนำมาม่าไปสร้างสรรค์เมนูอร่อย จำหน่ายในร้าน

ทว่า เดือน ธ.ค. นี้จะเห็นร้านต้นแบบของมาม่า สเตชั่น ที่จะขยายเชิงรุกในอนาคต และยังมีร้านแซ่บ มิวเซียม 1 สาขาที่เทอร์มินอล 21 อโศก และร้านเครซี่ มาม่า บาย แซ่บ มิวเซียม สาขาไอคอนสยาม

นอกจากนี้ ยังมีการนำมาม่าไปผนึกกับร้านอาหารไทย Farmhouse Kitchen Thai Cuisine ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาเมนูอาหารร่วมกัน หรืออาจเปิดร้านโมเดลป๊อปอัพสโตร์ให้บริการลูกค้า

“ร้านอาหารมาม่าเราควรจะมีนานแล้ว เพราะช่วยให้ผู้บริโภคจดจำ รับรู้แบรนด์ แต่ยอมรับการทำธุรกิจร้านอาหารค่อนข้างยาก”

  • คนไทยบริโภคบะหมี่ฯ อันดับ 9 ของโลก

สำหรับตลาดบะหมี่ฯ ในไทยมูลค่าราว 20,000 ล้านบาท เชิงมูลค่าเติบโต 8-9% (จากการปรับขึ้นราคาสินค้าแบบซองจาก 6 บาท เป็น 7 บาท) ส่วนเชิงปริมาณทรงตัว ทั้งนี้ตลาดบะหมี่ฯ แบ่งเป็นแบบซองและคัพสัดส่วน 80% บะหมี่ฯพรีเมียม 10% เป็นต้น

การผลิตมาม่า

ทั้งนี้ คนไทยยังคงบริโภคบะหมี่ฯเฉลี่ย 52.3 ซอง/คน/ปี สูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก มองทิศทางตลาดในอนาคตยังขยายตัวได้ เพราะหากเทียบประเทศอื่นๆ เช่นเวียดนาม เกาหลี การบริโภคเฉลี่ยสูงกว่า 70 ซอง/คน/ปี เป็นต้น

สำหรับภาพรวมยอดขายมาม่าช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 15,568.52 ล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 11,306.49 ล้านบาท และต่างประเทศ 4,262.03 ล้านบาท โดยปี 2566 บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโต 4% และปี 2567 คาดการณ์เติบโต 5-7 %

อย่างไรก็ตาม ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เคยตั้งเป้ายอดขายแตะ 30,000 ล้านบาท ฉลองครบรอบ 50 ปี แต่ภาพรวมยังห่างเป้าหมาย โดยปี 2565 ยอดขายรวมบริษัทมากกว่า 27,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิกว่า 2,700 ล้านบาท

“เป้าหมายยอดขาย 30,000 ล้านบาท บริษัทยังมุ่งไปให้ถึง ซึ่งคาดว่าจะเห็นในปี 2568-2570 สอดรับนโยบายรัฐที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท”

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...