รัฐบาลรื้อเกณฑ์เงินดิจิทัล ลดผู้เข้าเกณฑ์ หั่นวงเงินเหลือ 4 แสนล้านบาท

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป วงเงินรวม 560,000 ล้านบาท มีกำหนดเริ่มแจกเงินในเดือน ก.พ.2567 รัฐบาลคาดหวังสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ และทำให้จีดีพีในปี 2567 ขยายตัว 5% 

วงเงินโครงการที่สูงมากทำให้มีการคัดค้านจากทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งองค์กรอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามโครงการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้รัฐบาลมีท่าทีที่จะลดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการลง

รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งต้องหาข้อสรุปแหล่งงบประมาณและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินภายในเดือน ต.ค.2566

รายงานข่าวระบุว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอที่หลากหลาย โดยเฉพาะเมื่อโครงการถูกวิจารณ์จึงได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางโครงการเพื่อใหเโครงการเดินหน้าต่อได้

สำหรับหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้มีวงเงิน 560,000 ล้านบาท โดยแจกครั้งเดียว 10,000 บาท ผ่านช่องทาง Blockchain ให้ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน รวม 56 ล้านคน และผู้ได้รับเงินจะใช้จ่ายได้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร

ในขณะที่ข้อเสนอที่กำลังพิจารณาอาจมีการลดวงเงินรวมเหลือ 400,000 ล้านบาท โดยทยอยแจก 10,000 บาท ให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ควรได้รับการช่วยเหลือ คาดว่าจะเหลือ 40 ล้านคน ผ่านช่องทางเป๋าตังค์ และใช้เงินได้ในรัศมีเกิน 4 กิโลเมตร

เบรกข้อเสนอใช้แอพเป๋าตังค์

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2566 ได้หารือข้อเสนอหน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยเฉพาะข้อเสนอให้ใช้แอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ เหมือนโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่ผ่านมา  เพราะมีระบบและฐานข้อมูลพร้อมดำเนินการได้ โดยให้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนจะดำเนินการได้เร็วกว่าระบบบล็อกเชนที่ต้องออกแบบและทำระบบใหม่

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ ประธานที่ประชุมระบุว่าการแจกเงินดิจิทัลเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ซึ่งได้คิดมาดีแล้วว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และระบบที่จะใช้ต้องอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชนเท่านั้น พร้อมทั้งระบุแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์นั้น รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้เป็นเจ้าของ โดยไม่ได้ออกแบบและดำเนินการมาตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังต้องประชุมอีกหลายครั้ง โดยแต่ละครั้งจะนำประเด็นที่สังคมถกเถียงและข้อเสนอจากแต่ละหน่วยงานมาหารือ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่ละประเด็นเพราะยังเป็นการประชุมในนัดแรกๆ

“ต้องสรุปรายละเอียดในเดือน ต.ค.นี้ ทั้งเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ระยะเวลาโครงการและแหล่งเงินของโครงการ ซึ่งข้อมูลที่ออกไปสู่สาธารณะจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และยังไม่ใช่ข้อมูลที่ตกลงเป็นข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯ” แหล่งข่าวระบุ

“จุลพันธ์”พร้อมเข้าชี้แจง ป.ป.ช.

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อห่วงใยของทุกฝ่ายเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพื่อนำมาปรับปรุงเงื่อนไขการแจกเงินให้เหมาะสมและรอบคอบมากที่สุด โดยล่าสุดมีข้อห่วงใยจากคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมเพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานรัฐ ซึ่งดูแลเรื่องนี้มาช่วยดูให้เกิดความรอบคอบ จะเกิดประโยชน์ที่ดีมาก

“พร้อมเข้าไปพบ ป.ป.ช.และพบกับคณะกรรมการที่มาตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงิน เราจะเข้าไปนำเสนอโครงของเราและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อขจัดข้อสงสัย รับฟังคำแนะนำของ ป.ป.ช.เพื่อนำมาปรับใช้ให้กลไกของนโยบายของเรามีความสมบูรณ์ เมื่อมีการนัดหมาย ผมจะไปชี้แจงด้วยตัวเอง”

รวมทั้งรัฐบาลจะเร่งพิจารณาโครงการแจกเงินดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้นำมาใช้ได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าและนำมาใช้ได้เร็วสุดภายในเดือน เม.ย.2567

“ด้วยเงื่อนไขของระยะเวลาที่จะนำโครงการดังกล่าวมาใช้ที่ตึงตัวพอสมควร การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายดังกล่าวจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในต้นปี เพื่อช่วยชดเชยความล่าช้าของการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567”

อย่างไรก็ดี แม้การพิจารณาเงื่อนไขโครงการนี้มีข้อจำกัดด้วยเงื่อนเวลา แต่รัฐบาลจะพิจารณารายละเอียดโครงการนี้ ด้วยความรอบคอบและรัดกุม โดยขอให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวยึดกรอบการพิจารณาตามวินัยกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.ฎ.การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และขอยืนยันว่า การแจกเงินในโครงการดังกล่าว จะไม่มีความรั่วไหล ฉะนั้น จึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการทุจริต

รวมทั้งด้วยเงื่อนไขการแจกเงินที่คลอบคลุมระดับฐานรากที่กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ จะช่วยกระชากให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ระดับประมาณ 5% จากปัจจุบันที่ขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น ทั้งนี้ ในแง่ความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่จะใช้นั้น เรายังหมายถึงความคุ้มค่าทางสังคมที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้

พิจารณา 3 แนวทางหาแหล่งเงินดิจิทัล

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แหล่งงบประมาณโครงการจะเน้นการรักษาวินัยการเงินการคลังประเทศ และการจัดหาแหล่งเงินต้องไม่กระทบเครดิตเรทติ้งประเทศ โดยอาจใช้หลายแนวทางผสมกัน และเบื้องต้นมี 3 ทางเลือก ดังนี้

1.การบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 โดยลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น รวมทั้งขอให้เลื่อนโครงการขนาดใหญ่บางโครงการไปปีงบประมาณถัดไป หรือบางโครงการที่ขอซื้ออุปกรณ์ครุภัณฑ์ขนาดใหญ่ขอให้ชะลอไว้ก่อน แล้วรัฐบาลเติมเงินบำรุงรักษาให้

2.การใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยงานรัฐออกเงินให้ก่อน ซึ่งรัฐบาลอาจใช้ช่องทางจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการ 200,000-300,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยอมรับว่ารัฐบาลต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 โดยแม้ขยายเพดานหนี้แต่รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรงบประมาณคืนให้หน่วยงานที่กู้ยืมเงิน 

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นเต็ม100% เท่ากับว่าหนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมาเป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทุกบาททั้ง 100% ที่สำคัญรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับในการใช้หนี้ทุกปีงบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท ซึ่งหากดูขนาดงบประมาณแผ่นดินปีละ 3.3 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าบริหารและใช้คืนเงินกู้ในส่วนนี้ได้

“ข้อกังวลผลกระทบเครดิตเรตติ้งของประเทศ แต่รัฐบาลได้คุยกับผู้ที่ดูเครดิตเรตติ้งแล้วว่าถ้าขยับแบบนี้ แล้วมีแผนใช้คืนหนี้ที่ชัดเจนเรตติ้งประเทศจะไม่ขยับ ซึ่งรัฐบาลวางแผนว่าหนี้ในส่วนนี้จะใช้คืนทุกปีปีละ 1 แสนล้านบาท และใช้หมดใน 3 ปี จะเห็นว่ามีทางที่จะหาเงินมาคืนได้เพราะบริหารเงินเป็น และไม่ทำให้การคลังประเทศเสียหาย เหมือนเมื่อก่อนที่รัฐบาลทำกองทุนหมู่บ้านแล้วรัฐบาลได้คุยกับธนาคารออมสินในการยืมเงินมาก่อนแล้วรัฐบาลใช้คืนให้”

3.รัฐบาลกู้เงินโดยตรง ซึ่งกู้ได้เพราะหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 60% ขณะที่เพดานอยู่ที่ 70% โดยขนาดจีดีพีอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ารัฐบาลมีช่องที่จะกู้เงิน 1.7 ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ดูช่องทางนี้

"พรหมินทร์" ยอมรับรัฐบาลสื่อสารไม่ครบ

น.พ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลทำงานมา 29 วัน ยอมรับว่าการทำงานของรัฐบาลนั้นเร็วเกินไป และอาจไม่อธิบายรายละเอียดได้หมด ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจต้องอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นการทำงานของรัฐบาลหลายส่วนที่ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยภาพรวมจะพยายามลดค่าครองชีพประชาชน และเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 

“ส่วนที่ทำในเรื่องของการลดค่าครองชีพที่ทำไปแล้วคือการลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย และการลดราคาน้ำมันดีเซลให้ราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าไม่เพิ่มสูงขึ้น”

นอกจากนี้ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด19 ได้เต็มศักยภาพ ขณะที่รายได้ของประชาชนก็เพิ่มขึ้นไม่ทันกับภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91.6% ของจีดีพี

ยืนยันแจกเงินช่วยเพิ่มกำลังซื้อ 

ทั้งนี้ แนวคิดของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลคือเราเติมเงิน และเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนเพื่อจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งมองการรวมกลุ่มของประชาชนและเกษตรกร ที่ได้รับเงินจำนวนนี้จะนำไปตั้งเป็นร้านค้าชุมชน ตั้งวิสาหกิจชุมชน หรือรวมตัวกันไปซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

"เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่แค่การแจกเงินให้ไปซื้อของแต่มีกลไกที่รัฐบาลมองว่าจะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในระดับชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยได้ประโยชน์ด้วย"

นอกจากนี้ เมื่อมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มขึ้นจากเงินดิจิทัลในส่วนนี้ถือว่าเป็นการสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้เกิด Multiplier effect ทำให้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันกำลังการผลิตของไทยในภาคอุตสาหกรรมของไทยอยู่ที่ 60% ถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศ

รวมทั้งเมื่อมีการบริโภคมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มการผลิต การจ้างงาน ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นทั้งจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนิติบุคคล ซึ่งนอจากทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประชาชนก็จะลดลงด้วย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...