ค่าเงินบาทวันนี้ 12ต.ค.66 ‘อ่อนค่า’ รอจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.41 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.45 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงาน อัตราเงินเฟ้อCPI สหรัฐฯ  และประเมินกรอบเงินบาท 36.20-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อCPI สหรัฐฯ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway (แกว่งตัวในช่วง 36.32-36.47 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และราคาทองคำ ต่างก็เคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน 

นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามระหว่าง อิสราเอล-กลุ่มฮามาส ก็ไม่ได้มีแนวโน้วที่จะบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มทยอยกลับมาสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น

แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินว่า ทิศทางนโยบายการเงินของเฟดนั้นจะมีโอกาสใกล้เคียงกับสิ่งที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ หรือ price-in ไปแล้ว หรือไม่ ทำให้โดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัวsideway ไปก่อน และในระหว่างวันเงินบาทก็อาจผันผวนไปตามทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ

เรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงาน อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ นั้นชะลอลงตามที่ตลาดคาดการณ์ หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจต่อการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดล่าสุด ซึ่งผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -75bps โดยเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิถุนายน ซึ่งในกรณีนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก เพราะภาพดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ตลาดได้รับรู้ หรือ price-in ไปแล้วพอสมควร แต่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นต่อได้พอสมควร ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หากรายงานอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ทำให้ตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น หรือ ลึกขึ้น กว่าที่กำลังประเมินอยู่ในปัจจุบัน 

ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ เฟดก็คงไม่รีบลดดอกเบี้ยลงและอาจลดดอกเบี้ยลงได้แค่ตาม Dot Plot ล่าสุด ซึ่งภาพดังกล่าวจะหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นมา พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ไม่ยาก และกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ เราประเมินว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 36.60 บาทต่อดอลลาร์และ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนถัดไป ขณะที่โซนแนวรับแรกจะอยู่แถว 36.25-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าทะลุโซนดังกล่าว ก็จะเปิดทางแข็งค่าต่อทดสอบแนวรับสำคัญที่ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ 

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

รายงานการประชุมเฟดล่าสุดที่สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างระมัดระวังต่อการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า ท่าทีดังกล่าวอาจสะท้อนว่า เฟดอาจไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ หรือ เฟดอาจไม่ได้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อชะลอลง ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงและทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.43% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อราว +0.15% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้น Novo Nordisk +4.9% หลังบริษัทมีความคืบหน้าในการทดลองยาสำหรับรักษาภาวะไตวายในผู้ป่วนเบาหวาน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปกลับถูกกดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม โดยเฉพาะ LVMH -6.5% หลังรายงานผลกำไรโตชะลอลงแย่กว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มั่นใจมากขึ้นว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน หลังเฟดได้เปิดเผยรายงานการประชุมเฟดล่าสุด รวมถึงความต้องการถือบอนด์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดยังคงกังวลภาวะสงคราม ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวใกล้ระดับ4.56% โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นไปได้ว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อ อย่างไรก็ตาม เราคงแนะนำ Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน ผู้เล่นในตลาดยังไม่รีบปรับลดสถานะการถือครองเงินดอลลาร์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดคงไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินตาม Dot Plot ล่าสุดได้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุดตลาดยังมองเฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และอาจลดดอกเบี้ยลง -75bps ในปีหน้า) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ส่งผลให้โดยรวม เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 105.7 จุด (กรอบ 105.6-106.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ทั้งบอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาดCOMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,888 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อนึ่ง เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นหรือชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นราว +0.3%m/m หรือ +3.6%y/y หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน รวมถึงการพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นของราคารถยนต์มือหนึ่งและมือสอง ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เพิ่มขึ้น +0.3%m/m หรือ +4.1%y/y ทั้งนี้

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอจับตา รายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของ ECB 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...