กองทุนหุ้นบุริมสิทธิกับโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี

การลงทุนในตลาดตราสารหนี้จึงมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นมาก เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่า และความผันผวนของราคาอยู่ในระดับต่ำกว่า ในขณะที่ ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความเสี่ยงขาลงจากทั้งปัจจัยภายในประเทศ และภายนอกประเทศ เช่น ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ช้ากว่าที่ประเมินไว้ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายท่านประเมินว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมามาก เป็นโอกาสที่ดีในการทยอยลงทุน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตดี โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กอปรกับคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ และปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาเติบโตได้ดี

สำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสการลงทุนที่คาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ และมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ในระดับต่ำกว่าตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield) แต่ไม่ต้องการเสี่ยงมากจากการลงทุนในตลาดหุ้น การลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ (preferred stock) อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

หุ้นบุริมสิทธิ เป็นหุ้นที่มีลักษณะกึ่งเจ้าของกึ่งเจ้าหนี้ของบริษัท กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัทเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง แต่จะได้สิทธิในการได้รับผลตอบแทนในอัตราที่แน่นอน และได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ นอกจากนี้ จะได้สิทธิในการเรียกร้องในบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญแต่หลังเจ้าหนี้ ทั้งนี้ หุ้นบุริมสิทธิอาจมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เช่น หุ้นบุริมสิทธิแบบสะสม และไม่สะสมเงินปันผล หุ้นบุริมสิทธิที่ไถ่ถอนคืนได้ และไถ่ถอนคืนไม่ได้ หุ้นบุริมสิทธิที่แปลงสภาพได้ และแปลงสภาพไม่ได้ เป็นต้น

การลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิในไทยอาจไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนนิยมลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทองคำมากกว่า อีกทั้งหุ้นบุริมสิทธิมีสภาพคล่องต่ำ อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาจเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นบุริมสิทธิ ที่เน้นลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิในต่างประเทศ เพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ และมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญ

ทั้งนี้ ก่อนการระบาดของโควิด-19 กองทุนหุ้นบุริมสิทธิให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นบุริมสิทธิปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าบริษัทต่างๆจะมีผลประกอบการแย่ลง และไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ และในช่วงของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น กองทุนหุ้นบุริมสิทธิก็ได้รับผลกระทบจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผลต่างระหว่างอัตราเงินปันผลจากหุ้นบุริมสิทธิกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแคบลง 

ดังนั้น ในช่วงการระบาดของโควิด กองทุนหุ้นบุริมสิทธิปรับตัวลดลงมากกว่ากองทุนตราสารหนี้ แต่ลดลงน้อยกว่ากองทุนหุ้น (สามัญ) ในขณะที่ ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ตลาดหุ้นหลายประเทศกลับปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด ส่วนกองทุนตราสารหนี้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น และเริ่มกลับมาฟื้นตัวเนื่องจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางในหลายประเทศจะยุติการขึ้นดอกเบี้ย และอาจปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า

 ในส่วนของกองทุนหุ้นบุริมสิทธิ ยังคงฟื้นตัวค่อนข้างช้า เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มองไปที่หุ้นสามัญ ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในบางช่วงหุ้นบุริมสิทธิยังได้รับผลกระทบจากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม การที่ตลาดหุ้นบุริมสิทธิยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้อัตราเงินปันผลของกองทุนหุ้นบุริมสิทธิบางกองในปัจจุบันอยู่สูงกว่า 9%

การที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัว ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในลำดับถัดไป จะส่งผลให้ความน่าสนใจในการลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิมีสูงขึ้นตามช่วงกว้างของอัตราผลตอบแทนที่มากขึ้น

สำหรับกองทุนที่ลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิในไทยยังมีอยู่น้อย และไม่ได้ลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมด เนื่องจากปริมาณหุ้นบุริมสิทธิในตลาดมีจำกัด โดยอาจมีการลงทุนบางส่วนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหุ้นบุริมสิทธิ กล่าวคือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิมีโอกาสในการรับผลตอบแทนในอัตราที่แน่นอน แต่มีกำหนดอายุ และมีสิทธิเรียกร้องในบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ ดังนั้น หากนักลงทุนสนใจที่จะลงทุนในกองทุนหุ้นบุริมสิทธิ และยอมรับความเสี่ยงที่อาจมีการขาดทุนในบางช่วงได้ นักลงทุนอาจสอบถามรายละเอียดจากตัวแทนขาย และศึกษาข้อมูลรายละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุน

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...