รีแบรนด์ปรับแผนทำรายได้ ร.ฟ.ท. 'คมนาคม' สั่ง EBITDA เป็นบวกปี 67

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นองค์กรที่อยู่คู่ประเทศไทยมานานนับร้อยปี ปัจจุบันอยู่ในสถานะด้านธุรกิจที่น่าเป็นห่วง โดยร.ฟ.ท. มีที่คาดการณ์รายรับประจำปี 2567 รวม 10,661ล้านบาท มาจาก รายได้จากการโดยสาร 2,957 ล้านบาทรายได้การขนส่งสินค้า 2,467 ล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่คาดการณ์รายจ่ายประจำปี 2567 รวม 29,631 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายครบกำหนดชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายเงินกู้ 5,436 ล้านบาท จ่ายบำรุงทางอาณัติสัญญาณ และสิ่งปลูกสร้าง 3,514 ล้านบาท เป็นต้น จะเห็นว่า รายจ่ายสูงกว่ารายได้เกือบสองหมื่นล้านบาทภาวะธุรกิจติดลบเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยระบุว่า จากผลการดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.พบว่าขาดทุนสะสมอยู่กว่า 2 แสนล้านบาท แต่จุดแข็งของธุรกิจไม่มีคู่แข่ง ซึ่งสิ่งที่ยังขาดอยู่ คือ การทำการตลาด เข้าถึงลูกค้า และปรับบริการให้ตอบโจทย์ผู้โดยสาร ดังนั้นตนจึงได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท.เร่งตัดตั้งทีมการตลาด เพื่อเดินหน้าเจรจาหาลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงผู้โดยสารกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการประสบการณ์การเดินทางใหม่ๆ ด้วยรถไฟ

ทำตลาดปรับโฉมการให้บริการ

อย่างไรก็ดี ตนได้ตั้งเป้าหมายดำเนินงานให้ ร.ฟ.ท.เร่งทำการตลาด ปรับโฉมบริการของการรถไฟ หารายได้และลดค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้การรถไฟเป็นองค์กรที่มี EBITDA หรือ กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย เป็นบวกภายในปี 2567 เร็วกว่าแผนฟื้นฟูที่เคยกำหนดไว้ว่าจะมี EBITDA เป็นบวกก่อนปี 2576 นอกจากนี้ผลักดันให้รถไฟไทยเป็นขนส่งหลักของการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน

เนื่องจากปัจจุบันพบว่า ร.ฟ.ท.มีรายได้จากการขนส่งสินค้าราว 2 พันล้านบาท ครองสัดส่วนการขนส่งสินค้าในประเทศอยู่ที่ 3% เท่านั้น เป้าหมายขณะนี้ให้ปรับเพิ่มขึ้นถึง 2.2 หมื่นล้านบาท ครองสัดส่วนแบ่งการตลาดให้สูงถึง 30% เช่นเดียวกับรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร ปัจจุบันพบว่าครองส่วนแบ่งการเดินทางของประเทศอยู่ที่ 2% หลังจากนี้ให้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“การรถไฟฯ มีจุดอ่อน คือ การพัฒนาที่ล่าช้า ต้องเร่งปรับโฉมบริการก่อน โดยเฉพาะบริการที่หารายได้จำนวนมาก รถไฟสายท่องเที่ยว รวมไปถึงรถไฟในชั้น 1 ที่สามารถทำราคาค่าโดยสารได้ ให้ทำการตลาดไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นการเดินทาง ส่วนบริการเชิงสังคมยังให้คงไว้ เพื่อบริการประชาชนในการลดต้นทุนการเดินทาง”

ลงทุนขยายขีดความสามารถ

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากปรับบริการของ ร.ฟ.ท.แล้ว การลงทุนขยายขีดความสามารถก็ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยขณะนี้มีโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่มีความพร้อม คาดว่าจะมีการพิจารณาในคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.วันที่ 19 ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน พ.ย.2567 และอนุมัติภายในปีงบประมาณ 2567 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคา

โดยรถไฟทางคู่ดังกล่าว มีจำนวน 4 โครงการ วงเงินรวมกว่า 1.36 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท 2.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6.66 พันล้านบาท 3.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท และ 4.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 2.97 หมื่นล้านบาท

“ตอนนี้รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ต้องเดินหน้าต่อตามแผน แต่ได้ปรับเอาช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ขยับให้เร็วขึ้นกว่าแผนเดิมที่วางไว้เปิดบริการในปี 2572 ตอนนี้มีความพร้อมแล้ว จึงเตรียมเสนอ ครม.ในเดือนหน้านี้ และเริ่มขั้นตอนประกวดราคาในปีงบประมาณ 2557 เพราะโครงการรถไฟทางคู่สายนี้ จะสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน”

เล็งประมูลส่วนต่อขยายสายสีแดง

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังมีแผนเสนอขออนุมัติจาก ครม.เพื่อเปิดประมูลก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,754 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท 2.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,616 ล้านบาท และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอขออนุมัติจากบอร์ดภายใน ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนประกวดราคาภายในปีงบประมาณ 2567 ส่วนการจัดหาเอกขนร่วมลงทุนงานเดินรถ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า แผนดำเนินงานในปี 2567 ร.ฟ.ท.จะต้องเคลียร์เรื่องที่ค้างคาให้แล้วเสร็จด้วย โดยเฉพาะเรื่องรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ในส่วนของสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจา ขณะที่เรื่องการจัดหารถโดยสารใหม่ ถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ตนจะดำเนินการผลักดันให้มีการจัดหาโดยเร็วในปีงบประมาณ 2567

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...