สมาคมเหล็กลวดร้องรัฐ หามาตรการกระตุ้นใช้กำลังผลิตในประเทศ

นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ นายกสมาคมเหล็กลวดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กลวดไทย กำลังเผชิญความเดือดร้อน เพราะมีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ทั้งจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย เข้ามาตีตลาด เสนอขายในราคาต่ำ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้ผลิตเหล็กลวดไทย และภาพรวมอุตสาหกรรมอยู่รอด

โดยข้อมูล ณ ม.ค.-พ.ค. 2566 มีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ในปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก มีการนำเข้าจากจีนมากถึง 218,502 ตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าเพียง95,924 ตัน เพิ่มมากขึ้นถึง 128% นำเข้าจากอินโดนีเซีย 69,944 ตัน ขณะที่ปีก่อนนำเข้าเพียง25,211 ตัน เพิ่มขึ้น 177% และจากมาเลเซีย 69,440 ตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนนำเข้า44,175 ตัน เพิ่มขึ้น 57%

"อุตสาหกรรมเหล็กลวดของไทย มีกำลังการผลิต 2.6 ล้านตันต่อปี มีความสามารถในการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น และอินเดีย แต่กลับมีการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า30%" นายธีรยุทธ กล่าว

แม้ที่ผ่านมารัฐบาล จะออกมาตรการ Made in Thailand ให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของภาครัฐ ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลควรหาทางเพิ่มการใช้กำลังการผลิต เช่น กระตุ้นการส่งออก โดยพิจารณายกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมในการส่งออก ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ให้เหมาะสมกับการแข่งขันทางอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมประเทศอื่น 

รวมถึงขยายขอบข่ายของนโยบาย Made in Thailand ให้รวมถึงโครงการลงทุนร่วมทุนรัฐและเอกชน และให้ลงไปถึงการกำหนดให้ใช้วัตถุดิบต้นน้ำที่ผลิตได้ในประเทศด้วย

นายธีรยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การช่วยเหลือจากภาครัฐในหลายประเทศหากเผชิญกับสถานการณ์แบบที่เกิดขึ้นแบบนี้ ภาครัฐจะเข้าช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ใช้มาตรการส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ ใช้มาตรการด้านภาษีกับสินค้านำเข้าประเทศแคนาดา มีการประกาศเก็บภาษีเพิ่ม 25%  ในสินค้าเหล็กบางประเภทที่มีการนำเข้าเพิ่มสูงผิดปกติ เป็นต้น

“กลุ่มผู้ผลิตเห็นด้วยกับนโยบายการค้าเสรี ที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุน แต่ขอให้เป็นการค้าเสรีที่เป็นธรรม ไม่มีการทุ่มตลาด"

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ โดยไม่ผ่านการขอใบอนุญาตนำเข้า ทั้งที่สินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำเป็นสินค้าภายใต้มาตรฐานบังคับ ภายใต้การกำกับดูแลของ สมอ. อย่างเข้มงวด และยังพบว่ามีการหลบเลี่ยงการเสียอากรการทุ่มตลาด โดยปรับลดธาตุคาร์บอนเจืออัลลอยด์เพิ่มแทน อาจกระทบต่อคุณสมบัติของเหล็กลวดคาร์บอนสูง ซึ่งเป็นการตั้งใจหลบเลี่ยงกฎหมายรูปแบบหนึ่ง

“ผมอยากให้มีการผลักดันการใช้สินค้า มอก. บังคับ อยากเห็นคนในประเทศอุ่นใจในเลือกใช้สินค้า มอก. ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างสินค้านำเข้า และสินค้าที่ผลิตในประเทศคือ ผู้ผลิตในประเทศ อยู่ตรงนี้ หากพบปัญหาคุณภาพสินค้า ก็พร้อมที่จะรับคืนหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ต่างจากการส่งคืนไปประเทศอื่นซึ่งทำได้ยาก เรียกร้องความรับผิดชอบก็ยาก และสินค้าเหล็กลวดเป็นสินค้าทีเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ หากเกิดความเสียหาย จะส่งกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง” นายธีรยุทธ กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...