‘พลังงาน’ ลุยขุมทรัพย์ปิโตรฯ เสนอรัฐบาลใหม่เปิดสัมปทานรอบ 25 

การจัดหาแหล่งปิโตรเลียมเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติระยะยาว (2561-2580) จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.7% และคาดว่าปี 2580 จะอยู่ที่ระดับ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยขณะได้มีการเตรียมเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25

รวมทั้งรัฐบาลที่ผ่านมาได้เริ่มเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยพรรคเพื่อไทยที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล ได้กำหนดนโยบายเร่งพื้นที่ทับซ้อน เพื่อให้ได้แหล่งก๊าซธรรมชาติราคาถูก และสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากค่าภาคหลวง

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25 จะครอบคลุมพื้นที่ 9 แปลง คือ บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง และบริเวณพื้นที่ภาคกลางจำนวน 2 แปลง ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2566

รวมทั้งขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดในเชิงลึกของพื้นที่ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อย่างต่อเนื่องถึงแนวทางในการเปิดสำรวจ โดยพื้นที่ปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน

สำหรับพื้นที่ที่จะเปิดประมูลครั้งนี้อาจเลือกพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาก่อน เพื่อให้ไทยมีทรัพยากรมาบริหารจัดการ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดผลกระทบจากการนำเข้าพลังงานที่มีราคาสูง ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ จะต้องนรอนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลใหม่ ที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาลงนามในร่างประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 9 แปลงดังกล่าว เพื่อเข้าสู่กระบวนการประกาศเชิญชวนผู้ที่มีความสนใจในการลงทุน

“การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมพื้นที่ดังกล่าว จะสร้างความต่อเนื่องในการจัดหาปิโตรเลียม ที่ปัจจุบันจะเริ่มมีปริมาณน้อยลง เพื่อให้เพิ่มขึ้นและเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ ทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง เพราะราคาพลังงานนำเข้าจะสูงกว่ามาก ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ และยังทำให้เกิดการจัดสรรรายได้แก่ท้องถิ่นด้วย” นายสราวุธ กล่าว

นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เตรียมแผนการเปิดประมูลมาต่อเนื่อง เพราะเป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการเร็วที่สุด ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนเม็ดเงินที่จะเกิดการลงทุนช่วงการสำรวจรอบที่ 25 จะมีมูลค่าไม่น้อย

รอ รมว.พลังงานเซ็นเปิดประมูล

รายงานข่าวจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาลงนามร่างประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงบนบกรอบที่ 25 ซึ่งจะต้องเสนอผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่พิจารณา โดยพื้นที่สำรวจแบ่งได้ดังนี้

1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง รวมพื้นที่ 25,520 ตารางกิโลเมตร 2.ภาคกลาง 2 แปลง รวมพื้นที่ 7,924 ตารางกิโลเมตร

สำหรับการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ได้รับสิทธิแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 2 แปลง คือ แปลงหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515 ตารางกิโลเมตร 

ส่วนบริษัทเชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสิทธิแปลงสำรวจในอ่าวไทยหมายเลข G2/65 พื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร 

นอกจากนี้ การสำรวจปิโตรเลียมครั้งที่ 24 ทำให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในช่วงสำรวจ 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในไทย 640 ล้านบาท และหากพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้จะสร้างรายได้จากค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไร

นายสราวุธ กล่าวถึงการเพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณว่า ได้ทำการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามแผนตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2566

พร้อมกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2566 และที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือน เม.ย.2567 เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงเอราวัณกลับมามีอัตราการผลิตสูงสุดในอ่าวไทยอีกครั้ง จะส่งผลให้ช่วยลดต้นทุนและปริมาณการนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้า ช่วยลดความผันผวนของภาระค่าไฟฟ้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจและสังคม

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...