3 เหตุผลทำไมการลงทุนต่างประเทศยังคงจำเป็นสำหรับนักลงทุน

ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่จะนำรายได้จากต่างประเทศมาคำนวณเฉพาะการนำเงินกลับประเทศไทยในปีภาษี (พ.ศ.) เดียวกันเท่านั้น โดยรายได้จากต่างประเทศครอบคลุมหลายๆ ส่วนทั้งจากหน้าที่การงานที่ทำที่ต่างประเทศ เช่น งานอิสระต่างๆ กิจการที่ทำอยู่ต่างประเทศ และทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าเข้าข่ายเรื่องของกำไรหรือเงินปันผลจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศด้วย

โดยผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้นตกอยู่กับกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง (Direct Investment) ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงผ่านตัวแทนในประเทศไทย เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือผ่านกองทุนรวม และอาจจะก่อให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นที่จำเป็นจะต้องพิจารณาสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจก่อให้เกิดต้นทุนสำหรับการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แต่การลงทุนในต่างประเทศนั้นยังคงเป็นส่วนสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงหรือโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ เสมอ วันนี้เราลองมาทบทวนสาเหตุสำคัญว่าทำไมเรายังคงต้องไปลงทุนต่างประเทศกันครับ

ประการแรก คือ โอกาสของการลงทุนในอุตสาหกรรมและวัฏจักรที่แตกต่างออกไป เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอุตสาหกรรมในกลุ่มเทคโนโลยีนั้นมีการเติบโตที่โดดเด่นกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเทคโนโลยีนั้นเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของ Mega Trends ที่จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม

ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กนั้นส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีส่วนช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดหลักอื่นๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและอาจจะต่อเนื่องไปในอนาคตด้วย หรือหากพิจารณาประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเวียดนามที่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งลักษณะของเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถมีส่วนต่อการเติบโตในอุตสาหกรรมสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สุขภาพ การเงินต่างๆ ที่อยู่ในวัฏจักรที่แตกต่างจากของไทยได้ ทั้งอุตสาหกรรมและวัฏจักรที่แตกต่างกันนั้นเปิดโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้

ประการที่สอง คือ รูปแบบของการลงทุนที่กว้างกว่า ตลาดการเงินของไทยทั้งตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนหากเทียบกับต่างประเทศนับว่ามีขนาดเล็กมาก รวมถึงทางเลือกของการลงทุนที่จำกัดกว่ามาก โดยตลาดต่างประเทศนั้นเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายกว่าหรือเข้าถึงตราสารที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่หลากหลายกว่า เช่น การลงทุนในกลุ่มกองทุนรวม ETF (Exchange Traded Fund) ที่มีทางเลือกให้ลงทุนได้กว้างกว่ามากและครอบคลุมแทบจะทุกชนิดของสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้ หรือแม้แต่การลงทุนโดยตรง เช่น ในกลุ่มของตราสารหนี้ก็จะมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนั้นในกลุ่มตราสารนอกตลาด (Private Assets) นั้นก็นำเสนอทางเลือกที่น่าสนใจเพิ่มเติมให้กับนักลงทุนได้ ซึ่งรูปแบบของการลงทุนที่มากกว่าก็จะทำให้การบริหารพอร์ตฟอลิโอทำได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้เมื่อตลาดการเงินมีขนาดใหญ่ก็จะทำให้มีสภาพคล่องที่ดีกว่าด้วย

ประการที่สาม คือ การช่วยกระจายความเสี่ยงของการลงทุน เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกแม้จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่ในระดับหนึ่งผ่านทางการค้าขายสินค้าและบริการ รวมถึงการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ แต่ในท้ายที่สุดเศรษฐกิจต่างๆ ก็ยังเติบโตและเปลี่ยนแปลงในวัฏจักรที่แตกต่างกันอยู่เสมอ ในบางช่วงบางประเทศอาจจะเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งการที่เศรษฐกิจเติบโตและเคลื่อนไหวในจังหวะที่แตกต่างกันจะช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถจัดสรรเงินลงทุนและสัดส่วนของการลงทุนให้เหมาะสมอยู่เสมอได้

ส่วนทางเลือกของการลงทุนที่อาจจะลดภาระจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็สามารถทำได้ ผ่านการลงทุนในประเทศไทยในผลิตภัณฑ์ที่มีการลงทุนในต่างประเทศอีกทีหนึ่ง โดยหลักๆ มี 3 ทางเลือก ได้แก่ (1) กองทุนรวม (Mutual Fund) (2) กองทุนรวม ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (3) ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือที่เรียกกันว่า DR (Depositary Receipt) และ DRx (Fractional Depositary Receipt) ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่แม้จะมีทางเลือกให้ไม่มาก แต่ก็นับได้ว่าอาจจะช่วยลดผลกระทบลงได้บางส่วน ช่องทางต่างๆ นั้นล้วนแล้วแต่มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป นักลงทุนควรจะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเริ่มลงทุน

การลงทุนในต่างประเทศนั้นยังน่าจะจำเป็นและยังคงเป็นส่วนประกอบสำคัญของการจัดสรรเงินลงทุน การเพิ่มเข้ามาของประเด็นทางด้านภาษีนั้นแม้อาจจะเพิ่มต้นทุนให้กับนักลงทุนบางส่วน แต่ก็อาจจะไม่สามารถลบล้างผลประโยชน์ของการลงทุนในต่างประเทศลงได้ สิ่งที่ควรทำหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายเพิ่มเติม คือ การบริหารสัดส่วนการลงทุนโดยการคำนึงถึงต้นทุนที่เหมาะสมและปรับเปลี่ยนกระบวนการวางแผนการลงทุนและการวางแผนภาษีให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด


 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...