เตรียมพร้อม 'เสียภาษี' เมื่อคุณมีรายได้จาก 'แหล่งเงินได้นอกประเทศ'

โดยปกติเมื่อ "บุคคลธรรมดา" มีรายได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้หากเข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป กรมสรรพากรได้ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ

เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes และได้ลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคี (ข้อตกลงการค้าพหุภาคี เป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่สามประเทศขึ้นไป) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (MAC) และความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (MCAA CRS)

ดังนั้น จึงทำให้กรมสรรพากรมีความจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ

เงื่อนไขจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง สามารถอธิบายได้ดังนี้

  • มีรายได้จากต่างประเทศต้องเสียภาษีอย่างไร

หากเป็นก่อนหน้านี้ที่กรมสรรพากรยังไม่มีการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ คือ เมื่อใดก็ตามที่บุคคลทั่วไปมีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือนอกประเทศ ต้องนำรายได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเมื่อถึงเกณฑ์กำหนด

ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม ได้กำหนดไว้ว่า แหล่งเงินได้จากนอกประเทศ ประกอบด้วย การทำงานในต่างประเทศให้กับนายจ้างที่อยู่ต่างประเทศ หรือทำงานในประเทศไทยแล้วส่งงานให้กับนายจ้างที่อยู่ต่างประเทศ การไปประกอบกิจการในต่างประเทศและส่งเงินเข้ามาในประเทศไทย การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น หุ้นหรือพันธบัตร และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการส่งสินค้าในประเทศไทยออกไปขายยังต่างประเทศ

ทั้งหมดนี้ถือเป็นรายได้จากแหล่งนอกประเทศ และถ้าผู้มีรายได้จากแหล่งนอกประเทศดังกล่าว พักอยู่ในประเทศไทยในปีเป็นเวลา 180 วัน ซึ่งอาจจะอยู่อย่างต่อเนื่องหรือไม่ก็ได้ แต่รวมระยะเวลาแล้วได้ถึง 180 วัน โดยยึดระยะเวลาตามพาสปอร์ตของผู้มีรายได้ และนำเงินรายได้ที่ได้รับเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับที่เกิดรายได้ ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากรายได้ในส่วนนี้ด้วย

ดังนั้น ในทางตรงกันข้าม หากผู้มีรายได้นำเงินที่ได้รับเข้ามาในประเทศไทย ในปีภาษีเดียวกันกับที่เกิดรายได้ แต่ไม่ได้พักอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน โดยยึดระยะเวลาตามพาสปอร์ตของผู้มีรายได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้

  • อัปเดต! เงื่อนไขมีรายได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ

และล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2566 กรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่การงานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้น เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

​กล่าวคือหากบุคคลธรรมดามีรายได้จากแหล่งนอกประเทศตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น และมีการนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย จะต้องนำรายได้จากแหล่งนอกประเทศนี้ มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันแรกที่อยู่ในประเทศไทย

  • ใช้ “อนุสัญญาภาษีซ้อน” เพื่อป้องกันการเสียภาษีซ้ำซ้อน

และถึงแม้ผู้มีรายได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนที่เป็นเงินได้จากแหล่งนอกประเทศก็ตาม แต่หากผู้มีเงินได้ถูกเก็บภาษีไว้ในประเทศแหล่งเงินได้แล้ว ผู้มีเงินได้สามารถนำภาษีที่ถูกประเทศแหล่งเงินได้ที่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย เก็บไว้มาใช้เป็นเครดิตภาษีได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน

ทั้งนี้ อนุสัญญาภาษีซ้อน หรือ Double Taxation Agreement (DTAs) คือ สนธิสัญญาทางภาษีแบบทวิภาคี (Bilateral Treaties) ที่เป็นการลงนามระหว่างประเทศไทย และประเทศคู่สัญญาต่างๆ เพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ในกรณีที่เงินได้ของบุคคลหนึ่งเข้าเกณฑ์การเสียภาษีมากกว่า 1 ครั้ง ภายใต้กฎหมายภาษีอากรของประเทศมากกว่า 1 ประเทศขึ้นไป

อธิบายแบบเข้าใจง่ายก็คือ ถ้าบุคคลธรรมดามีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นประเทศคู่สัญญากับประเทศไทย และได้เสียภาษีไว้แล้วกับแหล่งเงินได้ต่างประเทศนั้น ผู้มีรายได้สามารถเก็บหลักฐานไว้เพื่อใช้เป็นเครดิตภาษีได้ ซึ่งอาจทำให้เสียภาษีในประเทศไทยน้อยลง เนื่องจากสัญญานี้จะช่วยลดภาระการจ่ายภาษีที่ซ้ำซ้อนลงนั่นเอง

สรุป...จะมีผลกระทบต่อนักลงทุนหรือไม่

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า เมื่อกรมสรรพากรมีการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ นอกจากจะช่วยสนับสนุนและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกและลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคีดังกล่าวแล้ว ยังเสริมสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ เพื่อยกระดับความโปร่งใสในการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง

แต่ ณ ตอนนี้ ยังต้องรอทางกรมสรรพากรทบทวนอีกครั้ง โดยต้องพิจารณาผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ลงทุนรายย่อย เนื่องจากมีความจำเป็นในการโอนเงินกลับเข้าประเทศไทยสูงกว่านักลงทุนรายใหญ่ ที่ไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินเท่ารายย่อย และผลกระทบอื่นๆ อีกด้วย

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...