สทนช. เร่งเก็บน้ำช่วงปลายฝนที่ตกหนัก พร้อมจัดจราจรเร่งระบาย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในช่วงปลายฤดูฝนว่า สถานการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณฝนตกในประเทศไทยปีนี้น้อยกว่าค่าปกติประมาณ 14% โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึง 31% และภาคตะวันออก 26% แต่อย่างไรก็ตาม จากการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า 

ในช่วงระหว่างวันที่ 26-29 ก.ย. 66 ให้ระมัดระวังฝนตกหนัก และฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ เนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก โดยจะมีฝนตกหนักมากในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ในช่วงสัปดาห์นี้จะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ประมาณ 4,700 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะใน 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมกันประมาณ 1,300 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งยังจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อีกประมาณ 220 ล้าน ลบ.ม. สามารถสนับสนุนความต้องการใช้น้ำทั้งภาคอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรต่อเนื่อง และไม้ผล ได้อย่างเพียงพอ

" ขณะนี้ในพื้นที่ตอนบนเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝน สทนช.ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เร่งเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักของลุ่มเจ้าพระยา พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรที่มีแหล่งเก็บกักน้ำเป็นของตัวเอง ให้เก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดจากสภาวะเอลนีโญ"

สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขังของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สทนช.ได้ประสานงานร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควบคุมการระบายน้ำไม่ให้กระทบกับความมั่นคงของเขื่อน และคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำ เช่นเดียวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มอบหมายให้กรมชลประทานผันน้ำผ่านระบบคลองต่างๆ ที่อยู่ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด

โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ริมคลอง พร้อมทั้งให้กักเก็บไว้ในแหล่งน้ำต่างๆรวมไปถึงคลองส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานให้ได้มากที่สุดเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบกับประชาชนบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากปริมาณน้ำที่จะระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้

 

นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่ระบายน้ำผ่านระบบชลประทานฝั่งตะวันออกส่วนหนึ่ง จะไปเพิ่มปริมาณน้ำในคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ทำให้สูบผันน้ำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำด้านอุปโภค-บริโภคและการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี ไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้สทนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานต่างๆ เร่งกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้รองรับปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2567 และควบคุมการระบายน้ำในทางน้ำต่างๆ ให้มีผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...