'ก้าวไกล' ป้อง ธปท.ซัด 'อิ๊งค์-พท.' ยันหลักสากลแบงก์ชาติต้องอิสระจากรัฐบาล

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2567 นายชัยวัฒน์  สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองเป็นหลัก ว่าเขาน่าจะต้องการแทรกแซงในเรื่องการตัดสินใจในนโยบายต่างๆ ของ ธปท. ซึ่งตามหลักสากลรัฐบาลกับธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติจะมีการแบ่งหน้าที่และการทำงานที่เป็นอิสระต่อกัน รัฐบาลสามารถกำหนดเป้าหมายและมอบหมายให้แบงก์ชาติไปทำให้บรรลุเป้าหมาย  แต่ว่าไม่ควรไปแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติเพราะจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการทำงานทำงานของแบงก์ชาติเป็นหลักสากลที่ต้องวางโครงสร้างธรรมาภิบาลในการทำงานร่วมกัน 

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ถ้าหากเป้าหมายที่มอบหมายไปไม่บรรลุผลใดๆ ก็ตาม เช่น เรื่องเงินเฟ้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ก็ควรมีการพูดคุยกันว่าเหตุผลที่ไม่บรรลุเพราะอะไร ถ้าเราดูเรื่องเงินเฟ้อมันมีเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนในบริบทของประเทศไทยเพราะนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลก็กระทบกับเรื่องเงินเฟ้อด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอุ้มค่าไฟ อุ้มค่าน้ำมัน หรือการอุ้มค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันของประชาชน การแทรกแซงราคาสินค้าต่างๆ มันมีผลกระทบราคาก็คือตัวเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติในการรักษาเสถียรภาพของราคาของทุกสิ่งทุกอย่างไม่ให้ขึ้นเร็วเกินไป คือเงินเฟ้อควรจะขึ้นน้อยๆ ไม่ควรขึ้นแบบผันผวน และควรขึ้นตามเศรษฐกิจที่เติบโต โดยทั่วไปตามหลักสากลเขาจะกำหนดอัตราเงินเฟ้ออยู่ประมาณ 2% บวกลบนิดหน่อยตามแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ธปท.ต้องดูแลในเรื่องปริมาณเงินทั้งหมดในระบบซึ่งจะกระทบต่อตัวราคา

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า การที่ น.ส.แพทองธาร หรือพรรคเพื่อไทยได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานของ ธปท. ว่ามาขัดขวางการทำงานอะไรต่างๆ อาจจะเป็นการมองคนละมุมและไม่ได้เข้าใจการวางโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของ ธปท. เพราะถ้าหากธปท.เป็นเนื้อเดียวทำตามรัฐบาลทุกอย่างมันก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในอดีต อย่างประเทศอาร์เจนตินา หรือซิมบับเว เราจะเห็นเงินเฟ้อที่สูงมาก ๆ สูงเป็น 100 % พอรัฐบาลสามารถควบคุมธนาคารกลางได้ เขาสามารถที่จะออกเงินมาเท่าไรก็ได้ ตามที่รัฐบาลต้องการ และอาจจะเกิดสถานการณ์แบบนั้นก็คือเงินเฟ้อรุนแรง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ทำให้หลักสากลจึงต้องแยกแบงค์ชาติที่เป็นฝ่ายควบคุมปริมาณเงินออกจากรัฐบาล ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดสถานการณ์แบบนั้นขึ้นมา การที่เขาออกมาพูดแบบนี้และพูดในลักษณะอยากถอดถอนหรือปลดผู้ว่าฯ ธปท.มันก็เป็นการแทรกแซงบทบาทมากเกินไป โดยที่ไม่เข้าใจเรื่องหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ และการวางธรรมาภิบาลตรวจสอบซึ่งกันและกันที่ดี  

“เขาถึงขนาดจะมาแก้กฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อว่าจะกดดันหรือบีบให้เปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ ธปท.หรือไม่ อยากให้สื่อและสังคมช่วยจับตาเรื่องนี้  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะจะกระทบกับความเชื่อมั่นของประเทศไทย กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งที่รัฐบาลพยายามจะไปขายของต่างๆ ให้ต่างชาติมาลงทุน แต่ถ้าเขามองมาดูภาพใหญ่ของประเทศไทย  รัฐบาลพยายามจะไปแทรกแซงธนาคารกลาง บีบให้ผู้ว่าฯ ออกหรือแม้กระทั่งจะแก้กฎหมายให้ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ง่ายขึ้น เพราะประเด็นที่ได้ยินตอนนี้ปลดไม่ได้เพราะมีกำหมายโพรเทคอยู่ก็เลยอยากจะแก้กฎหมาย ตรงนี้น่าเป็นห่วง” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า หากมองว่า ธปท. ทำงานบกพร่องหรือไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร ก็ควรจะพูดคุยและหารือกัน เปิดเผยเหตุผลต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ น่าจะเป็นภาพการทำงานอย่างมีวุฒิภาวะของรัฐบาล ไม่ใช่ออกมาโจมตีผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ตอนนี้ถาโถมออกมาโจมตี ธปท.ในแง่ต่างๆ เพราะว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการทำนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต   ซึ่งในส่วนของนโยบายดิจิทัลฯ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยกล้าไปหาแหล่งเงินทุนมา  3 แหล่ง รวมถึงจะไปล้วงเงินของ ธ.ก.ส.ออกมาทั้งๆ ที่ติดหนี้ ธ.ก.ส.อย่างน้อย 8 แสนกว่าล้านบาทที่นับเป็นบัญชีหนี้สาธารณะ และยังมีบัญชีที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะอีกรวมๆ แล้วอาจจะเกือบแตะ 1 ล้านล้านบาท  ซึ่งตนคิดว่ารัฐบาลคงสิ้นไร้หนทางจริงๆ  แต่ถ้าหากกล้าทำและตัวคนที่รับผิดชอบโครงการนี้ก็ได้ออกมาบอกว่า ไม่ต้องตีความอะไร กฎหมายให้ทำได้ แสดงว่าเขากล้าทำแต่พอดีการตัดสินใจต่างๆ มันต้องติดสินใจในลักษณะขององค์คณะ รวมทั้งการตัดสินใจของ ครม.ด้วย ดังนั้นคนอื่นอาจไม่ได้เห็นพ้องต้องกันในเรื่องแง่กฎหมายไปทั้งหมด เพราะเสี่ยงในเรื่องขัดต่อข้อกฎหมายและมีบทลงโทษตามมาเล่นงานในภายหลังด้วย คนอื่นเขาไม่เอาด้วย จึงยังต้องให้กฤษฎีกาช่วยดู  

เมื่อถามว่ารัฐบาลจะสามารถแจกเงินดิจิทัลฯ ได้ในไตรมาส 4 ตามที่นายกฯ ระบุหรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สุดท้ายจะได้เห็นนโยบายนี้สำเร็จหรือไม่  ตนมอง 2 ด้าน ต่อให้ด้านกฎหมายเคลียร์ได้ มันก็ยังมีด้านของการดำเนินการนโยบายนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาระบบ การหาร้านค้าเข้ามาร่วมโครงการ หรือการสร้างซูเปอร์แอพขึ้นมาใหม่ เข้าไปอยู่ในมือถือของประชาชน 50 ล้านคน และรายละเอียดในการทำให้เป็นโอเพ่นลูป เรายังไม่เห็นว่าจะดึงธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร ให้ธนาคารหรือผู้ให้บริการวอลเล็ตต่างๆ เข้ามาร่วมอันนี้ยังไม่เห็นกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ ซึ่งเหลือเวลาอีก 6 เดือน ตนคิดว่าไม่น่าจะทำทันในเรื่องเหล่านี้ หากไม่ได้มีการเตรียมการทำไว้ล่วงหน้า จากประสบการณ์และการพูดคุยกับคนที่พัฒนาระบบเหล่านี้มา คิดว่าทำอย่างไรก็ไม่น่าจะทัน 


หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ มอง ‘จีน’ มีอิทธิพลศก.ที่สุดในอาเซียน สัดส่วนทะลุ 70% เป็นรองแค่ ‘ลาว’

สถาบันคลังสมองในสิงคโปร์ ISEAS-Yusof Ishak Institute ได้เปิดเผยรายงานประจำปีที่มีชื่อว่า State of So...

ตลาด“ปาล์ม”ปี67ปัจจัยอากาศปั่นป่วน เเนะเกษตรกร-โรงสกัดคุมคุณภาพการผลิต

สถานการณ์ผลผลิต“ปาล์มน้ำมัน” ปี 2567 คาดว่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม...

เช็คโทษปรับค้างค่า 'ทางด่วน' เมินจ่ายเจอสูงสุด 10 เท่า

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดสถิติปริมาณจราจรบนทางพิเศษ รวมทุกสายทาง ประจำปีงบประมาณ 2566 พบว...

ชะตากรรม ‘GDPไทย‘ หลังไตรมาส1 จ่อทรุด ’เอกชน‘ คาดกรอบ 67 ขยายตัว 1.5-2.7%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังจะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1...