‘สิงคโปร์’ คิดค้น ‘สีทาบ้าน’ ช่วยบ้านเย็น แก้ปัญหาความร้อนในเมือง

อากาศร้อน” ในตอนกลางวันกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทั่วโลก หลายคนต้องหนีไปเดินห้าง ที่ช่วยทั้งประหยัดค่าไฟ และคลายร้อน แต่สำหรับคนที่จำเป็นต้องอยู่บ้านก็ใช้วิธีการอาบน้ำบ่อยๆ เป็นการคลายร้อน หรือใช้น้ำลดหลังคา และพื้นดินให้พออยู่บ้านได้ ล่าสุดสิงคโปร์ได้คิดค้นนวัตกรรม “สีทาบ้าน” ลดอุณหภูมิลงได้ถึง 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อต่อสู้กับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว

ก่อนหน้านี้มีการศึกษาเรื่อง “สีทาบ้าน” ช่วยทำให้บ้านเย็นลง เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากเกาะความร้อนในเมือง (UHI) ปรากฏการณ์ที่เขตเมืองมีอุณหภูมิที่อุ่นกว่าสภาพแวดล้อมรอบนอก แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และลดข้อจำกัดการใช้งาน จนกระทั่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง หรือ NTU จากสิงคโปร์ ได้ตีพิมพ์บทความลงในวารสาร Sustainable Cities and Society เมื่อเดือนมี.ค.2567

นักวิจัยของ NTU ได้เลือกอาคาร 4 หลังที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทางตะวันตกของสิงคโปร์ที่บริหารโดย JTC Corporation พื้นที่แห่งนี้ มีตึกสูงขนาบข้างทั้ง 2 ฝั่ง และมีถนนแคบๆ ตัดผ่านตรงกลาง ซึ่งเรียกพื้นที่ลักษณะนี้ว่า “Street Canyon” เนื่องจากเมื่อมองดูไกลๆ แล้วจะมีลักษณะเหมือนหุบเหวลึก โดยทำการแบ่งตึกออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งได้ทาสีที่ผสมสารเคลือบสะท้อนความร้อนของดวงอาทิตย์ไปบนหลังคา ผนัง และทางเท้า

แล้วทำการตรวจวัดการเคลื่อนที่ของอากาศ อุณหภูมิพื้นผิว และอากาศ ความชื้น และการแผ่รังสีในช่วงสองเดือนหลังจากที่ทาสีดังกล่าว พบว่าพื้นที่ทาสีสะท้อนความร้อนสามารถลดความร้อนที่ปล่อยออกมาจากพื้นผิวได้ถึง 30% ส่งผลให้อุณหภูมิเย็นลง 2 องศาเซลเซียส ในช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน ซึ่งคือเวลา 16.00 น. เมื่อเทียบกับบริเวณที่ไม่ได้ใช้สารเคลือบ

 

 

สารเคลือบสะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่อยู่ในสี ช่วยทำให้สีมีคุณสมบัติลดการดูดซับ และการปล่อยความร้อนที่พื้นผิวได้ โดยหลังคาที่ทาด้วยสีโทนเย็นจะสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น 50% และดูดซับความร้อนลดลงถึง 40% ในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวันที่มีแสงแดดแรง เมื่อเทียบกับหลังคาทั่วไป 

นอกจากนี้ ผู้คนที่เดินสัญจรผ่านไปมาในบริเวณที่ทาด้วยสีสะท้อนความร้อนจะรู้สึกผ่อนคลายสบายตัวยิ่งขึ้น เนื่องจากระดับความสบายในการระบายความร้อนของขึ้นเพิ่มขึ้น ถึง 1.5 องศาเซลเซียส วัดโดยใช้ Universal Thermal Climate Index ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลทั่วไปสำหรับความรู้สึกอุณหภูมิภายนอกอาคารของมนุษย์ โดยคำนึงถึงอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ การแผ่รังสีความร้อน และความเร็วลม

ทีมวิจัยของ NTU ระบุว่าอุณหภูมิของตึกที่ทาสารเคลือบเย็นลดลง เพราะความร้อนถูกดูดซับ และกักเก็บในผนัง หลังคา และถนนมีน้อยลง ซึ่งต่างจากอาคารปกติที่จะกักเก็บความร้อนสูง และเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งอาคารจะคายความร้อนออกมา ทำให้ภายในอาคารมีอุณหภูมิสูงขึ้น

ดังนั้นนวัตกรรมสีทาบ้านนี้จึงอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้มนุษย์สามารถอยู่สบายขึ้นในพื้นที่เมือง แม้โลกจะร้อนขึ้นก็ตาม

 

 

“การศึกษาของเราแสดงหลักฐานว่าการเพิ่มสารสะท้อนแสงอาทิตย์ในสีสามารถช่วยลดการสะสมความร้อน และมีส่วนช่วยให้สภาพแวดล้อมในเมืองเย็นลง” ดร.อี วี เอส กิรัน กุมาร ดอนธุ ผู้เขียนหลักของการศึกษากล่าว

นอกจากนี้ กิรัน กุมาร ดอนธุ ยังกล่าวอีกว่าการทาสีเมืองใหม่เป็นวิธีการที่ทำให้เมืองเย็นลงเร็วที่สุด สามารถทำได้ทันที รวดเร็ว และประหยัดที่สุด เมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเมืองขนานใหญ่ 

นักวิจัยหวังว่าการศึกษานี้จะช่วยให้นักผังเมืองหันมาใช้การเคลือบสีเย็นบนพื้นผิวกับสิ่งก่อสร้างในเมืองให้มากขึ้น

เมื่อความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ในโครงสร้างน้อยลง ก็จะทำให้อาคารเย็นลง อาจทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศภายในอาคาร นำมาซึ่งการประหยัดค่าไฟ ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงมีประโยชน์เฉพาะในเมืองที่มีอากาศร้อนตลอดทั้งปี อย่างสิงคโปร์เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในทุกเมืองที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“การศึกษาของเรายืนยันว่าสีทาบ้านลดอุณหภูมิจะเป็นกลยุทธ์ในการลดผลกระทบจากเกาะความร้อนในเมืองที่จะรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคตได้อย่างไร” รศ.ว่าน ม่าน ผุน หัวหน้านักวิจัยกล่าว ทั้งนี้ NTU จะทำการศึกษาพัฒนาสารเคลือบสีที่จะทำให้อุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งวันต่อไป


ที่มา: Euro News, Phys


หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ มอง ‘จีน’ มีอิทธิพลศก.ที่สุดในอาเซียน สัดส่วนทะลุ 70% เป็นรองแค่ ‘ลาว’

สถาบันคลังสมองในสิงคโปร์ ISEAS-Yusof Ishak Institute ได้เปิดเผยรายงานประจำปีที่มีชื่อว่า State of So...

ตลาด“ปาล์ม”ปี67ปัจจัยอากาศปั่นป่วน เเนะเกษตรกร-โรงสกัดคุมคุณภาพการผลิต

สถานการณ์ผลผลิต“ปาล์มน้ำมัน” ปี 2567 คาดว่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม...

เช็คโทษปรับค้างค่า 'ทางด่วน' เมินจ่ายเจอสูงสุด 10 เท่า

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดสถิติปริมาณจราจรบนทางพิเศษ รวมทุกสายทาง ประจำปีงบประมาณ 2566 พบว...

ชะตากรรม ‘GDPไทย‘ หลังไตรมาส1 จ่อทรุด ’เอกชน‘ คาดกรอบ 67 ขยายตัว 1.5-2.7%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังจะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1...