หุ้นส่วนใกล้ชิด มิตรร่วมภูมิภาค นายกฯ บังกลาเทศเยือนไทยในรอบ 21 ปี | World Wide View

นายกรัฐมนตรี Sheikh Hasina แห่งบังกลาเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 22 – 29 เมษายน 2567 โดยมีรัฐมนตรีหลายคนร่วมคณะ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ในงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 นายกรัฐมนตรี Hasina กล่าวว่า บังกลาเทศตั้งอยู่ระหว่างจีน และอินเดียที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ก็เห็นว่าไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด และหุ้นส่วนสำคัญที่มีพลวัต 

บังกลาเทศมีพื้นที่ใกล้เคียงกับภาคอีสานแต่มีประชากรมากกว่าไทยเกือบ 3 เท่าคือ ประมาณ 170 ล้านคน พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ตลอด 50 กว่าปีหลังเป็นเอกราช เศรษฐกิจบังกลาเทศเติบโตต่อเนื่อง และปัจจุบันมีรายได้หลักจากการเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้บริษัทต่างประเทศ โดยรัฐบาลมีแผนจะตั้งเขตเศรษฐกิจทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอื่นๆ และกำลังเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือน้ำลึก อาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ของท่าอากาศยานธากา รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และทางด่วนยกระดับ ซึ่งสองโครงการหลัง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีส่วนร่วมก่อสร้างด้วย 

เศรษฐกิจบังกลาเทศยังขยายตัวได้อีกมาก และเป็นโอกาสที่ไทยจะมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ในด้านการค้าบังกลาเทศมีประชากรอันดับ 8 ของโลก และมีชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจ ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้าประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์ และมีเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าเป็น 2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรี Hasina มีการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะเริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย - บังกลาเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกัน 

แม้ไทยกับบังกลาเทศอยู่ไม่ไกลกันมาก แต่การขนส่งสินค้าใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์เพราะต้องอ้อมช่องแคบมะละกา และขนถ่ายสินค้าลงเรือเล็กที่มาเลเซียหรือศรีลังกาเพื่อไปท่าเรือจิตตะกอง ซึ่งอยู่ในแม่น้ำ และเรือขนาดใหญ่เข้าไม่ได้ การขนส่งจึงเป็นต้นทุนค่อนข้างสูงสำหรับสินค้าไทย แต่ถ้ามีการขนส่งชายฝั่งจากท่าเรือระนองไปบังกลาเทศโดยตรง ระยะเวลาอาจลดเหลือเพียง 3 – 4 วัน และค่าใช้จ่ายจะถูกลงด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศสนับสนุนให้เร่งรัดดำเนินการ 

ชาวบังกลาเทศเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า และบริการของไทย โดยเฉพาะบริการการแพทย์ รวมทั้งชื่นชมความก้าวหน้าของไทยด้านการเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตร เพราะบังกลาเทศมีผลผลิตหลายอย่างที่ล้นตลาด เช่น มะม่วง สับปะรด เนื่องจากยังขาดสถานที่เก็บรักษา ห้องเย็น และเทคโนโลยีการแปรรูป บังกลาเทศจึงมักเชิญชวนภาคเอกชนไทยไปลงทุน นอกจากนี้ บังกลาเทศเพิ่งเชิญบริษัทต่างชาติยื่นข้อเสนอสำรวจน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอ่าวเบงกอล โดย ปตท.สผ. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย ซึ่งหากมีผลเป็นรูปธรรมก็จะเป็นการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานของไทยกับกระทรวงไฟฟ้า พลังงาน และทรัพยากรธรณีบังกลาเทศที่เพิ่งลงนามเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 

จากการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา นำคณะนักธุรกิจไทยไปสำรวจศักยภาพในสาขาที่มีการหารือกัน โดยเฉพาะข้อเสนอจากบังกลาเทศให้ไทยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเพื่อการผลิตอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น สินค้าอาหารแปรรูป และพร้อมจัดสรรพื้นที่ให้ไทยพัฒนาการท่องเที่ยว 

การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี Hasina เป็นหมุดหมายสำคัญในความสัมพันธ์ไทย – บังกลาเทศ โดยมีการหารือ และลงนามบันทึกความเข้าใจหลายฉบับ อาทิ ด้านพลังงาน การท่องเที่ยว ความร่วมมือทางศุลกากร รวมทั้งหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรี นายกรัฐมนตรี Hasina มีกำหนดจะเยือนไทยอีกครั้งในปีนี้เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดบิมสเทค ซึ่งสะท้อนว่าทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ที่ผูกพัน และเกื้อกูลกันทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์


หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ มอง ‘จีน’ มีอิทธิพลศก.ที่สุดในอาเซียน สัดส่วนทะลุ 70% เป็นรองแค่ ‘ลาว’

สถาบันคลังสมองในสิงคโปร์ ISEAS-Yusof Ishak Institute ได้เปิดเผยรายงานประจำปีที่มีชื่อว่า State of So...

ตลาด“ปาล์ม”ปี67ปัจจัยอากาศปั่นป่วน เเนะเกษตรกร-โรงสกัดคุมคุณภาพการผลิต

สถานการณ์ผลผลิต“ปาล์มน้ำมัน” ปี 2567 คาดว่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม...

เช็คโทษปรับค้างค่า 'ทางด่วน' เมินจ่ายเจอสูงสุด 10 เท่า

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดสถิติปริมาณจราจรบนทางพิเศษ รวมทุกสายทาง ประจำปีงบประมาณ 2566 พบว...

ชะตากรรม ‘GDPไทย‘ หลังไตรมาส1 จ่อทรุด ’เอกชน‘ คาดกรอบ 67 ขยายตัว 1.5-2.7%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังจะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1...