ไข้หูดับ 4 เดือนแรก ป่วยแล้ว 235 ราย เสียชีวิต 14 ราย พบมากสุดอีสาน-เหนือ

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคไข้หูดับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 เมษายน 2567 จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวังโดยกองระบาดวิทยา พบผู้ป่วย 235 ราย (อายุ 15 - 95 ปี) เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคืออายุ 55-59 ปี และ 40-49 ปี ตามลำดับ ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

Freepik/ freepik
ไข้หูดับ

ปัจจัยเสี่ยงที่พบคือ กินเนื้อหมูหรือเลือดสุกๆ ดิบๆ ไม่แยกเขียงทำอาหาร สัมผัสหมูดิบโดยตรง พบผู้ป่วยเสียชีวิต 14 ราย (ร้อยละ 5.9) และประมาณ ร้อยละ 60 มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น

          โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ

  • เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 
  • การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือการสัมผัสเลือดของหมู ที่กำลังป่วย

ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อ 1-14 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง สูญเสียการได้ยิน ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ

  • บริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 60-70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาทีเป็นอย่างต่ำ หากรับประทานอาหารปิ้งย่าง แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุก ผัก หรือผลไม้ร่วมกัน 
  • เลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 
  • ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ขณะทำงานควรสวมรองเท้าบูทยาง และสวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง 

หากพบว่ามีอาการป่วย สงสัยโรคไข้หูดับโดยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ร่วมกับประวัติเสี่ยง ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูดิบให้ทราบ ทั้งนี้หากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว ได้รับยาปฏิชีวนะเร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น


หมวดเดียวกัน

สหรัฐเตือนทั่วโลกระวังก่อการร้ายในเดือนไพรด์ (Pride Month)

สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐ (เอฟบีไอ) และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (ดีเอชเอส) ออกคำแนะนำเมื่อวัน...

โลกร้อน-อากาศรวน ทำฝนตกหนัก-น้ำท่วม ‘อัฟกานิสถาน’ เสียชีวิตรวม 300 กว่าราย

สำนักข่าวบีบีซีรายงานวานนี้ (18 พ.ค.)ว่า น้ำท่วมอัฟกานิสถานฉับพลันหลังฝนตกหนัก ทางภาคกลางของประเทศ ส...

‘ศพไร้ญาติ’ ในแคนาดาพุ่ง เหตุญาติขอไม่รับศพ เพราะค่าจัดงานแพงหูฉี่

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมืองบางแห่งในแคนาดามียอดศพไร้ญาติ หรือศพที่ไม่มีผู้อ้างสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้...

เวียดนามตั้ง "พล.ต.อ.โต เลิม" เป็นปธน.คนใหม่

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศ...