ความร้อนส่งผลต่อการทำงานของสมอง ‘เอเชีย’ ประกาศปิดโรงเรียน

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ยังคงเผชิญหน้ากับ “คลื่นความร้อน” ระดับรุนแรง และมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ทำให้แต่ละประเทศออกคำเตือนให้ประชาชนระวังปัญหาสุขภาพจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุ พร้อมประกาศหยุดเรียนให้หลายประเทศ หลังอุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และทำให้ต้องประกาศ “หยุดเรียน

ซูดานใต้ปิดโรงเรียนไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ อินเดีย และบังกลาเทศ ประกาศหยุดเรียนในช่วงปลายเดือนเมษายน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นถึง 45 องศาเซลเซียส 

ทำให้เด็กนักเรียนกว่า 40 ล้านคน ไม่ได้ไปโรงเรียนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะอากาศร้อน ซึ่งเป็นผลมาจาก “ภาวะโลกร้อน” ที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยิ่งจะทำให้คลื่นความร้อนอยู่นานขึ้น และมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางการบังกลาเทศประกาศเปิด ๆ ปิด ๆ โรงเรียนมาหลายรอบ และเมื่อวันที่ 29 เมษยายน รัฐลาลได้ประกาศปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั้งหมดอีกครั้ง หลังจากที่อุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส

“ความร้อนอบอ้าว” ส่งผลต่อการเรียน

อุณหภูมิที่พุ่งสูง ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างระดับความรู้ของเด็กระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน และประเทศที่พัฒนาแล้วจะยิ่งห่างขึ้นไปอีก แต่ขณะเดียวกันการส่งเด็กไปโรงเรียนที่ร้อนจัดก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพเช่นกัน

“โรงเรียนหลายแห่งในบังกลาเทศไม่มีพัดลม ระบบระบายอากาศก็ไม่ดี และมีหลังคาเป็นสังกะสี ยิ่งทำให้อบอ้าวไปกันใหญ่” ชูมอน เซนกุปตา ผู้อำนวยการองค์กรไม่แสวงผลกำไร Save the Children ประจำบังกลาเทศกล่าว

อุณหภูมิสูงจะทำให้การทำงานของสมองช้าลง ส่งผลต่อความสามารถในการจดจำและการประมวลผลข้อมูลลดลง การศึกษาในปี 2020 พบว่า นักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐมีผลการเรียนแย่ลง หากพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงในช่วงก่อนการสอบ นอกจากนี้การศึกษายังระบุว่า ทุกอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.55 องศาเซลเซียส จะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนลดลง 1%

จอช กู๊ดแมน ผู้ร่วมวิจัย และนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า นักเรียนจะมีผลการเรียนที่ดีขึ้น เมื่อโรงเรียนติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

จากการสำรวจหลายแห่ง พบว่าโรงเรียนในสหรัฐประมาณ 40-60% มีเครื่องปรับอากาศ โดยโรงเรียนที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศมักจะอยู่ในพื้นที่มีรายได้น้อย และมีผลวัดระดับความรู้ทางวิชาการต่ำกว่าโรงเรียนที่มีรายได้สูงกว่า

กู๊ดแมนระบุว่า ทีมวิจัยพบว่าข้อมูลผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติในหลายประเทศก็มีรูปแบบการเรียนรู้ที่คล้ายคลึงกัน “เมื่อนักเรียนเผชิญกับความร้อนอบอ้าวมากขึ้น จะยิ่งทำให้พวกเขาจะเรียนรู้น้อยลง” เขากล่าว

ทั้งนี้กู๊ดแมนกล่าวเสริมว่า นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะในทุกวันนี้โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และประเทศที่ร้อนอยู่ก็จะต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด จะต้องทนทุกข์ทรมานมากกว่าประเทศที่มีภูมิอากาศแบบอบอุ่น

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะขยายช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างประเทศในเขตร้อนและอบอุ่น” กู๊ดแมนกล่าว

“ความร้อน” ทำให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษา

ข้อมูลของสหประชาชาติ พบว่า ประมาณ 17% ของเด็กวัยเรียนทั่วโลกไม่ได้เรียนแล้ว ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่ขาดการศึกษามักอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเกือบ 1 ใน 3 ของเด็กที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายซาฮาราต้องออกจากโรงเรียน ขณะที่ในอเมริกาเหนือมีเพียง 3% เท่านั้นที่ไม่ได้เรียน ส่งผลให้ระดับความรู้ของเด็กในประเทศกำลังพัฒนายังตามหลังประเทศที่พัฒนาอยู่มาก

งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าความร้อนที่สูงเกินไปอาจส่งผลต่อเด็กตั้งแต่ยังไม่เกิด การศึกษาในปี 2019 เผยแพร่ในรายงานการประชุมของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Proceedings of the National Academy of Sciences) พบว่า เด็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ตั้งแต่อยู่ในภรรค์ พอถึงวัยเรียนเด็กเหล่านี้ก็อาจจะถูกให้ออกจากโรงเรียนมาช่วยทำงาน

เฮเธอร์ แรนเดลล์ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ผู้เขียนรายงานการศึกษา ระบุว่า ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคเป็นเกษตรกร ซึ่งความแห้งแล้ง ความร้อน และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้ครอบครัวไม่มีรายได้เพียงพอ เด็กเล็กอาจได้รับอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาจขัดขวางพัฒนาการของพวกเขา ส่วนเด็กในวัยเรียนอาจจะต้องออกจากโรงเรียน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเรียน และออกมาช่วยทำงานหารายได้เพิ่มเติม

ปกติแล้วเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม จะเป็นเดือนที่ร้อนและแห้งแล้งที่สุดของปีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สภาพอากาศในปี 2567 กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม เนื่องจาก “ปรากฏการณ์เอลนิโญ

ในปี 2566 อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้บังกลาเทศปิดโรงเรียนไป 6-7 วัน แต่ปี 2567 รัฐบาลประเมินว่าอาจจะปิดโรงเรียนนานถึง 3-4 สัปดาห์ ด้วยระยะเวลาที่นานขนาดนี้ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าผู้ปกครองอาจจะนำเด็กไปใช้แรงงาน หรือจับเด็กแต่งงาน

โมฮิบุล ฮาซัน ชาวดูรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของบังกลาเทศ หากมีความจำเป็นก็จะให้สถานศึกษาทั้งหมดเปิดทำการในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อให้มีเวลาเรียนครบตามหลักสูตร พร้อมระบุว่าต่อไปนี้ การออกคำสั่งปิดโรงเรียนจะเป็นหน้าที่ของแต่ละท้องถิ่น ไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางอีกต่อไป


ที่มา: Bloomberg, Reuters, South China Morning Post


หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ มอง ‘จีน’ มีอิทธิพลศก.ที่สุดในอาเซียน สัดส่วนทะลุ 70% เป็นรองแค่ ‘ลาว’

สถาบันคลังสมองในสิงคโปร์ ISEAS-Yusof Ishak Institute ได้เปิดเผยรายงานประจำปีที่มีชื่อว่า State of So...

ตลาด“ปาล์ม”ปี67ปัจจัยอากาศปั่นป่วน เเนะเกษตรกร-โรงสกัดคุมคุณภาพการผลิต

สถานการณ์ผลผลิต“ปาล์มน้ำมัน” ปี 2567 คาดว่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม...

เช็คโทษปรับค้างค่า 'ทางด่วน' เมินจ่ายเจอสูงสุด 10 เท่า

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดสถิติปริมาณจราจรบนทางพิเศษ รวมทุกสายทาง ประจำปีงบประมาณ 2566 พบว...

ชะตากรรม ‘GDPไทย‘ หลังไตรมาส1 จ่อทรุด ’เอกชน‘ คาดกรอบ 67 ขยายตัว 1.5-2.7%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังจะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1...