‘อินเดีย’ แบน ‘พลาสติก’ ไม่สำเร็จ วัสดุทดแทนราคาแพง เจ้าหน้าที่ไม่ทำงาน

อินเดีย” บังคับใช้กฎหมายห้ามใช้ “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” หรือ SUP (single-use plastics) เช่น ถุงพลาสติก มีด หลอด บรรจุภัณฑ์อาหาร ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 แต่ผู้ส่วนใหญ่ยังคงใช้พลาสติกกันอย่างแพร่หลาย นักวิเคราะห์กล่าวว่าปัญหาเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ และวัสดุทดแทนพลาสติกมีราคาแพง ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ ทำให้กฎหมายนี้ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์

ข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ระบุว่าอินเดียสร้างขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งปีละประมาณ 5.5 ล้านตันต่อปี ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่สร้างขยะ SUP มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แม้ปัจจุบันอินเดียได้สั่งห้ามการผลิต การจัดจำหน่าย การเก็บสต๊อก และการขายสินค้า SUP 19 รายการ รวมถึงถุงพลาสติกที่บางกว่า 120 ไมครอน แล้ว แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังมีวางจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศ

 

แบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไม่ได้ผล เพราะวัสดุทดแทนแพง

ปรีติ มเหศ หัวหน้าฝ่ายประสานงานของ Toxics Link องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ในนิวเดลี กล่าวว่า ในช่วง 2-3 เดือนแรกที่กฎหมายบังคับใช้ เจ้าหน้าที่ทำงานแข็งขัน แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เริ่มปล่อยปละละเลย อีกทั้งรัฐยังล้มเหลวในการสร้างตลาดสินค้าทดแทน

“วัสดุที่ไม่ใช่พลาสติกมักจะมีราคาแพงกว่ามาก ดังนั้นธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะ SME ในบางครั้งไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ จึงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและใช้พลาสติกต่อไป” เธอกล่าว

การศึกษาในปี 2560 ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย  พบว่านับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา โลกผลิตพลาสติกใหม่ (virgin plastics) ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ไปแล้วกว่า 8,300 ล้านเมตริกตัน โดยขยะพลาสติกส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจบลงที่การฝังกลบหรือกระจายตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อม มีเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกส่งไปรีไซเคิล

“พลาสติกส่วนใหญ่ไม่ย่อยสลายได้เอง ดังนั้นขยะพลาสติกที่มนุษย์สร้างขึ้น อาจอยู่กับเราไปอีกหลายร้อยหรือหลายพันปี” เจนนา แจมเบ็ค ผู้ร่วมเขียนการศึกษาและรองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัยจอร์เจียกล่าว

นักวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นช่องโหว่ในการห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในอินเดีย เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงสินค้าครบทุกประเภท และสินค้าที่ถูกห้ามใช้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 3% ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

ในขณะที่ SUP บางประเภท เช่น ช้อนส้อมและจาน ถูกแบนเนื่องจากมีโอกาสที่จะกลายเป็นขยะสูง แต่ซอง บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก และขวดน้ำพลาสติกกลับไม่ได้ถูกแบน แม้ว่าจะมีคุณลักษณะเหมือนกันก็ตาม

ขณะที่ สิทธัตถ์ คานชยัม ซิงห์ ผู้จัดการโครงการกลุ่มวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในนิวเดลี กล่าวว่าการยกเลิกการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง นั้นไม่ได้ป้องกันและลดการใช้พลาสติก แต่กลับเป็นการบังคับให้คนใช้ SUP เพราะมันถูกออกแบบมาให้ล้มเหลว

“ตลาดไม่สมดุล เพราะคนที่สามารถทำตามกฎหมายนี้ได้ มีแค่บริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่ร้านค้าขนาดเล็กและขนาดกลางไม่มีทางเลือกอื่นเลย รัฐล้มเหลวในการสร้างตลาดแข่งขันที่เท่าเทียม” ซิงห์กล่าว

ติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ใช้ “ถุงพลาสติก”

การห้ามใช้พลาสติกต่าง ๆ เช่น แท่งพลาสติก ฟิล์มพลาสติก และโพลีสไตรีน ซึ่งเป็นโฟมสำหรับการใช้งานแบบจำกัด และกำหนดความหนาสำหรับถุงพลาสติกและป้ายไวนิล ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้จริง โดยถุงพลาสติกที่มีความหนาต่ำกว่า 120 ไมครอนยังคงเป็นสินค้าพลาสติกที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายที่สุดในประเทศ เพราะผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีทางเลือกอื่น

เชค แทนซิม ผู้ขายผลไม้ในเมืองกัลกัตตาทางตะวันออกของอินเดียเปิดเผยว่า พ่อค้าหาบเร่และร้านค้าริมถนนไม่มีเงินซื้อวัสดุทดแทนที่มีราคาแพงกว่าได้

“หลังจากประกาศแบนใช้ SUP ในปี 2022 ได้ไม่นาน บริษัทต่าง ๆ ผลิตถุงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทำจากกระดาษและวัสดุอื่น ๆ มาขาย ซึ่งร้านค้าใหญ่ ๆ ก็หันมาใช้ถุงแบบนั้น แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กจำนวนหลายร้อยล้านราย ในประเทศยังคงใช้ถุงพลาสติกที่มีความหนาต่ำกว่า 120 ไมครอนอยู่” แทนซิมกล่าว

เพื่อให้ยังคงสามารถใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งต่อไปได้ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องมายุ่ง ทำให้เจ้าของธุรกิจบางรายจำเป็นต้อง “ติดสินบน” ให้แก่เจ้าหน้าที่

“ร้านเล็ก ๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการแบน SUP เพราะพวกเขาฉลาดพอและรู้ว่าการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย จะทำให้พวกเขาใช้ถุงพลาสติกต่อไปได้ โดยที่ไม่มีใครมาห้าม เพราะฉะนั้นผมไม่เห็นว่ารัฐจะสามารถแบนได้เด็ดขาดในเร็ว ๆ นี้” มนตู ดาส พ่อค้าของชำในเมืองโกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก กล่าว

ขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอินเดีย ผู้ประกาศแบนสินค้าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว

 

ที่มา: Down to Earth, South China Morning Post


หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ มอง ‘จีน’ มีอิทธิพลศก.ที่สุดในอาเซียน สัดส่วนทะลุ 70% เป็นรองแค่ ‘ลาว’

สถาบันคลังสมองในสิงคโปร์ ISEAS-Yusof Ishak Institute ได้เปิดเผยรายงานประจำปีที่มีชื่อว่า State of So...

ตลาด“ปาล์ม”ปี67ปัจจัยอากาศปั่นป่วน เเนะเกษตรกร-โรงสกัดคุมคุณภาพการผลิต

สถานการณ์ผลผลิต“ปาล์มน้ำมัน” ปี 2567 คาดว่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม...

เช็คโทษปรับค้างค่า 'ทางด่วน' เมินจ่ายเจอสูงสุด 10 เท่า

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดสถิติปริมาณจราจรบนทางพิเศษ รวมทุกสายทาง ประจำปีงบประมาณ 2566 พบว...

ชะตากรรม ‘GDPไทย‘ หลังไตรมาส1 จ่อทรุด ’เอกชน‘ คาดกรอบ 67 ขยายตัว 1.5-2.7%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังจะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1...