อังกฤษเริ่มทดสอบวัคซีน mRNA รักษา “มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา”

เมื่อครั้งไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก โลกได้รู้จักกับวัคซีน mRNA เป็นวงกว้างมากขึ้น ในฐานะความหวังป้องกันโรคร้าย รวมถึงยังถูกตั้งเป้าว่าจะเป็นอนาคตของการปกป้องผู้คนจากโรคร้ายที่สุดอย่าง “มะเร็ง” ด้วย

ล่าสุดที่สหราชอาณาจักรได้เริ่มการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 ของ “วัคซีน mRNA แบบเฉพาะบุคคล” ตัวแรกของโลก สำหรับต่อต้านมะเร็งผิวหนังรูปแบบที่อันตรายที่สุดอย่างมะเร็งเมลาโนมา (Melanoma) แล้ว

คอนเทนต์แนะนำ
สคบ. เตือนพัดลมคล้องคอแบบพกพา ปนเปื้อนสารตะกั่ว ใช้นานเสี่ยงมะเร็ง!
ของหมักดอง กินบ่อยกินซ้ำ กระตุ้นมะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยเงียบชายอายุน้อย
เพิ่มแมกนีเซียมในมื้ออาหารลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ 12 เปอร์เซ็นต์

AFP/Eugene Hoshiko/POOL
วัคซีน mRNA (แฟ้มภาพ)

สตีฟ ยัง อายุ 52 ปี จากเมืองสตีเวนเอจ เป็นหนึ่งในผู้ป่วยกลุ่มแรก ๆ ที่อาสาทดลองฉีดวัคซีนใหม่นี้ เขาป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา และเพิ่งผ่าตัดเนื้องอกออกจากหนังศีรษะเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว

วัคซีน mRNA-4157 (V940) ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซันจดจำและกำจัดเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่ นั่นหมายความว่า ในทางทฤษฎีแล้ว มะเร็งของเขาจะไม่กลับมาอีก

แพทย์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCLH) ให้วัคซีนนี้ควบคู่ไปกับยาอีกตัวหนึ่ง คือ เพมโบรลิซูแมบ (Pembrolizumab) ซึ่งช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้

การทดลองรักษาแบบผสมผสานนี้ดำเนินการโดยโมเดอร์นา (Moderna) บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี mRNA และเมอร์ค (Merck Sharp & Dohme) บริษัทผู้พัฒนายารายใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญในประเทศอื่น ๆ รวมถึงออสเตรเลีย กำลังทดลองสูตรเดียวกันนี้กับผู้ป่วยมะเร็งเช่นกัน เพื่อรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม และดูว่าควรเผยแพร่วิธีรักษานี้ในวงกว้างมากขึ้นหรือไม่

ผู้ป่วยจะได้รับวัคซีน mRNA 1 มก. ทุก 3 สัปดาห์ สูงสุด 9 โดส และได้รับเพมโบรลิซูแมบ 200 มก. ทุก 3 สัปดาห์ (สูงสุด 18 โดส) เป็นเวลาประมาณ 1 ปี

วัคซีนเป็นแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งหมายความว่าส่วนประกอบของวัคซีนจะเปลี่ยนไปเพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย ไม่เหมือนกันเลย

มันถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ตรงกับลายเซ็นทางพันธุกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเนื้องอกของผู้ป่วยเอง และทำงานโดยการสั่งให้ร่างกายสร้างโปรตีนหรือแอนติบอดีที่โจมตีเป้าหมายหรือแอนติเจนที่พบในเซลล์มะเร็งเหล่านั้นเท่านั้น

ดร.เฮเทอร์ ชอว์ นักวิจัยของ UCLH กล่าวว่า การทดลองนี้มีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง และกำลังถูกทดสอบกับมะเร็งอื่น ๆ เช่น เนื้องอกในปอด กระเพาะปัสสาวะ และไต

“นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่เราเคยเห็นในรอบหลายปี มันถูกสร้างมาโดยเฉพาะสำหรับคนไข้แต่ละคน คุณไม่สามารถมอบวัคซีนตัวเดียวกันนี้ให้กับคนไข้รายถัดไปในคิวได้ ฉันไม่คิดว่ามันจะได้ผล” ชอว์บอก

เธอเสริมว่า “สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องทางเทคนิคอย่างมากและสร้างสรรค์ขึ้นอย่างประณีตสำหรับผู้ป่วย”

การทดลองในสหราชอาณาจักรมีเป้าหมายที่จะรับสมัครผู้ป่วยอย่างน้อย 60-70 รายในศูนย์ทดสอบ 8 แห่งทั่วประเทศ โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการทดลองจะต้องได้รับการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อมะเร็งผิวหนังที่มีความเสี่ยงสูงออกในอย่างน้อย 12 สัปดาห์ก่อนฉีดวัคซีน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ด้าน สตีฟ ยัง บอกว่า “การทดลองนี้ทำให้ผมมีโอกาสรู้สึกเหมือนว่ากำลังได้ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่อาจมองไม่เห็นนี้จริง ๆ ... การสแกนแสดงให้เห็นว่าผมยังมีโอกาสที่เซลล์มะเร็งยังอยู่โดยตรวจไม่พบ ดังนั้น แทนที่จะนั่งเฉย ๆ รอและหวังว่ามันจะไม่กลับมา จริง ๆ แล้วผมมีโอกาสมีส่วนร่วมในการสวมนวมชกมวยและสู้กับมัน”

ข้อมูลการทดลองเฟสที่ 2 ซึ่งตีพิมพ์ในเดือน ธ.ค. 2023 พบว่า ผู้ที่มีเนื้องอกระดับความเสี่ยงสูงร้ายแรงที่ได้รับการฉีดวัคซีนควบคู่ไปกับการบำบัดด้วยเพมโบรลิซูแมบ มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตหรือกลับมาเป็นมะเร็งอีกใน 3 ปี น้อยกว่าผู้ที่รักษาโดยวิธีให้แต่เพมโบรลิซูแมบอย่างเดียวเกือบครึ่งหนึ่ง (49%)

ดร.ชอว์ กล่าวว่า มีความหวังอย่างแท้จริงว่าการรักษานี้จะเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการรักษาดูเหมือนว่าจะมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างจะยอมรับได้ เช่น อาการเหนื่อยล้า เจ็บแขน และอาการอื่น ๆ ที่เหมือนกับการได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19

 

เรียบเรียงจาก BBC


หมวดเดียวกัน

สหรัฐเตือนทั่วโลกระวังก่อการร้ายในเดือนไพรด์ (Pride Month)

สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐ (เอฟบีไอ) และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (ดีเอชเอส) ออกคำแนะนำเมื่อวัน...

โลกร้อน-อากาศรวน ทำฝนตกหนัก-น้ำท่วม ‘อัฟกานิสถาน’ เสียชีวิตรวม 300 กว่าราย

สำนักข่าวบีบีซีรายงานวานนี้ (18 พ.ค.)ว่า น้ำท่วมอัฟกานิสถานฉับพลันหลังฝนตกหนัก ทางภาคกลางของประเทศ ส...

‘ศพไร้ญาติ’ ในแคนาดาพุ่ง เหตุญาติขอไม่รับศพ เพราะค่าจัดงานแพงหูฉี่

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมืองบางแห่งในแคนาดามียอดศพไร้ญาติ หรือศพที่ไม่มีผู้อ้างสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้...

เวียดนามตั้ง "พล.ต.อ.โต เลิม" เป็นปธน.คนใหม่

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศ...